เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
[97] ศาสนาของพระองค์งดงามไปด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย
เหมือนคลื่นในสาคร และเหมือนดวงดาวในท้องฟ้า
[98] พระชินเจ้าผู้สูงสุด อันมนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ อสูร
และนาคห้อมล้อมในท่ามกลางหมู่ชน
ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสมณะและพราหมณ์
[99] พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงถึงที่สุดโลก
ทรงทำสัตว์โลกทั้งหลายให้ยินดีด้วยพระรัศมี
ทรงทำดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้เบ่งบานด้วยพระดำรัส
[100] ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชธรรม 41 ประการ
เป็นบุรุษผู้สูงสุด ละความกลัวและความกำหนัดได้แล้ว
ทรงบรรลุธรรมที่เกษม มีความแกล้วกล้า
[101] พระผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลก
ทรงปฏิญาณฐานะที่ประเสริฐ ล้ำเลิศ
และพุทธภูมิทั้งสิ้น ไม่มีใครจะทักท้วงได้ในฐานะไหน ๆ
[102] เมื่อพระพุทธเจ้าผู้คงที่พระองค์นั้น
บันลือสีหนาทที่น่าสะพรึงกลัวอยู่
ย่อมไม่มีเทวดา มนุษย์ หรือพรหมบันลือตอบได้
[103] พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ ทรงช่วยมนุษย์และเทวดา
ให้ข้าม(สงสารวัฏ)ทรงประกาศธรรมจักรในท่ามกลางบริษัท
[104] ตรัสสรรเสริญคุณเป็นอันมาก
แล้วตั้งพระสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ
ที่ชาวโลกยกย่องว่าเป็นคนดีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

เชิงอรรถ :
1 เวสารัชชธรรม 4 (ม.มู. (แปล) 12/150/148, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/8/13-14, ขุ.อป.อ.
2/100/315)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :303 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
[105] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี
ประชาชนสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐ
รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์ มีนามว่าวังคีสะ
มีวาทะที่เป็นประโยชน์
[106] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้น
สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว
ได้ปีติอย่างประเสริฐ เป็นผู้ยินดีในคุณของสาวก
[107] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระสุคตผู้ทำสัตว์โลกให้เพลิดเพลิน
พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด 7 วันแล้ว
ให้ครองผ้าชุดใหม่
[108] ข้าพเจ้าได้หมอบลงแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า
ได้โอกาสจึงยืนประนมมืออยู่ ณ ที่สมควร
เป็นผู้ร่าเริง กล่าวสดุดีพระชินเจ้าผู้สูงสุดว่า
[109] ข้าแต่พระองค์ผู้มีวาทะที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระฤาษีผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้งปวง
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ขจัดภัย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
[110] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีมาร
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสดงทิฏฐิ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานสันติสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :304 }