เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 3. สีวลีเถราปทาน
[50] ลำดับนั้น พระมุนีผู้มีพระปรีชามาก
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงเห็นข้าพเจ้าว่ายินดีในฌานเนืองนิจ
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ยินดีในฌาน
[51] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[52] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[53] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กังขาเรวตเถราปทานที่ 2 จบ

3. สีวลีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีวลีเถระ
(พระสีวลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[54] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :296 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 3. สีวลีเถราปทาน
[55] สำหรับพระองค์ ศีลใคร ๆ ก็นับไม่ได้
สมาธิเปรียบได้ดังเพชร
ญาณที่ประเสริฐใคร ๆ ก็นับไม่ได้
และวิมุตติก็หาอะไรเปรียบมิได้
[56] พระผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงแสดงธรรม
ในสมาคมมนุษย์ เทวดา นาค และพรหม
ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสมณะและพราหมณ์
[57] พระพุทธองค์ผู้แกล้วกล้าในท่ามกลางบริษัท
ทรงตั้งสาวกของพระองค์ ผู้มีลาภมาก มีบุญ
มีความรุ่งเรืองไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[58] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ในกรุงหงสวดี
ได้ฟังพระชินเจ้าตรัสถึงคุณเป็นอันมากของสาวกนั้น
[59] ข้าพเจ้าจึงทูลนิมนต์พระชินสีห์พร้อมด้วยสาวก
ให้เสวยและฉันตลอด 7 วัน
ครั้นถวายมหาทานแล้ว ก็ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[60] ครั้งนั้น พระธีรเจ้าผู้องอาจกว่าบุรุษ
ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้หมอบอยู่แทบยุคลบาท
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ด้วยพระสุรเสียงอย่างกึกก้อง
[61] ลำดับนั้น ผู้ประสงค์จะสดับพระดำรัสของพระชินเจ้า
คือ มหาชน ทวยเทพ คนธรรพ์ พรหมผู้มีฤทธิ์มาก
[62] อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ต่างประนมมือนมัสการ(กราบทูลว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอนอบน้อมพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :297 }