เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 1. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
[14] ขณะนั้น พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงทราบวารจิตของข้าพเจ้า
จึงทรงรับบาตรมาจากมือของภิกษุผู้อุปัฏฐาก
[15] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงได้ถวายผลมะม่วงแด่พระมหามุนี
ครั้นใส่บาตรแล้วก็ประนมปีก
[16] ส่งเสียงร้องด้วยเสียงไพเราะน่ายินดี น่าฟัง
เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แล้วกลับไปหลับนอน
[17] ครั้งนั้น นกเหยี่ยวผู้มีใจหยาบช้า
ได้โฉบข้าพเจ้าผู้มีจิตเบิกบาน
มีอัธยาศัยน้อมไปสู่ความรักต่อพระพุทธเจ้าไปฆ่าเสีย
[18] ข้าพเจ้าจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ไปเสวยสุขอย่างมากอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
แล้วมาสู่กำเนิดมนุษย์เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
[19] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[20] พระองค์นั้นพร้อมสาวกทรงประกาศศาสนาให้รุ่งเรือง
ข่มเดียรถีย์ผู้หลอกลวงเสียแล้ว ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
ปรินิพพานแล้ว
[21] เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้เลิศในโลก เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ประชุมชนจำนวนมากที่เลื่อมใส
สร้างพระสถูปเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าผู้ศาสดา
[22] พวกเขาปรึกษากันอย่างนี้ว่า
เราทั้งหลายจักช่วยกันสร้างพระสถูปของพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :291 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 1. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ให้สูงถึง 7 โยชน์
ประดับด้วยรัตนะ 7 ประการ
[23] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นจอมทัพของพระเจ้าแผ่นดิน
แคว้นกาสีพระนามว่ากิกี
ได้พูดถึงขนาดเจดีย์ของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้
[24] ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้ช่วยกันสร้างเจดีย์ของพระศาสดา
ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์กว่านรชน สูงเพียงโยชน์เดียว
ประดับด้วยรัตนะนานาชนิดตามคำแนะนำของข้าพเจ้า
[25] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[26] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ มีทรัพย์มากในกรุงสาวัตถี
[27] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสุคตในเวลาเสด็จเข้านคร
เป็นผู้มีความอัศจรรย์ใจ บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[28] ด้วยกรรมคือการลดขนาดของพระเจดีย์ที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้ว
ข้าพเจ้าจึงมีร่างกายต่ำเตี้ย น่าเย้ยหยัน
[29] ข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นฤาษีผู้ประเสริฐ ด้วยเสียงที่ไพเราะ
จึงได้ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีเสียงไพเราะ
[30] ด้วยการถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า
และด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ
ข้าพเจ้าจึงสมบูรณ์ด้วยสามัญผลอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :292 }