เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 7. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
7. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโกฏฐิกเถระ
(พระมหาโกฏฐิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[221] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง1 เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
[222] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[223] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล 5
[224] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[225] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ2

เชิงอรรถ :
1 รู้แจ้งโลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งโลกตามสภาวะ เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึง
ความดับโลก คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ (1) สังขารโลก (2) สัตวโลก
(3) โอกาสโลก (ขุ.พุทฺธ.อ. 60/143)
2 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :268 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 7. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
[226] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 100,000 ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[227] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี เรียนจบไตรเพท
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง
แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา
[228] ครั้งนั้น พระธีรเจ้าพระองค์นั้น
ทรงตั้งสาวกผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
ฉลาดในอรรถ ธรรม นิรุตติ
และปฏิภาณไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[229] ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็พลอยยินดี
จึงได้ทูลนิมนต์พระชินเจ้าผู้ประเสริฐ
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด 7 วัน
[230] ข้าพเจ้าทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าผู้ดังสาคร
พร้อมทั้งสาวกให้ครองผ้าชุดใหม่
แล้วหมอบลงแทบพระบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[231] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศในโลก
ได้ตรัสว่า ‘จงดูพราหมณ์ผู้ประเสริฐ
ซึ่งหมอบอยู่แทบเท้าเรานี้ มีรัศมีเหมือนกลีบบัว
[232] พราหมณ์นี้ปรารถนาตำแหน่งประเสริฐสุดของภิกษุ
เพราะการบริจาคทานด้วยศรัทธานั้น
และเพราะการฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
[233] พราหมณ์นี้จักเป็นผู้มีความสุขในทุกภพ
เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
จักได้ตำแหน่งนั้นตามใจปรารถนาในอนาคตกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :269 }