เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 2. วักกลิเถราปทาน
[47] ข้าพเจ้าผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น
นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อนซึ่งยังนอนหงายอยู่
[48] มารดาถูกภัยคือปีศาจคุกคาม
มีใจหวาดกลัวจึงให้นอนลง
แทบพระยุคลบาทของพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระโลกนาถ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์
ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของเขาด้วยเถิด’
[49] ครั้งนั้น พระมุนีพระองค์นั้นผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของหมู่สัตว์ผู้หวาดกลัว ได้ทรงรับข้าพเจ้า
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ที่บริสุทธิ์อ่อนนุ่มมีตาข่ายกำหนดด้วยจักร
[50] จำเดิมแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องเฝ้ารักษา
จึงพ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่อย่างสุขสำราญ
[51] ข้าพเจ้าห่างจากพระสุคตเพียงครู่เดียว ก็กระวนกระวาย
พออายุได้ 7 ขวบ ก็บวชเป็นบรรพชิต
[52] ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่อิ่มอยู่ เพราะเห็นพระรูปกายที่ประเสริฐ
ซึ่งเกิดจากพระบารมีทุกอย่าง
มีดวงตาสีดำสนิท มีผิวพรรณสัณฐานงดงาม
[53] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงทราบว่า
ข้าพเจ้ายินดีในพระรูป
จึงได้ตรัสสอนข้าพเจ้าว่า ‘อย่าเลย วักกลิ
ทำไม เธอจึงยินดีในรูปที่ชนพาลชอบเล่า
[54] ผู้ใดเห็นพระสัทธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเห็นเรา
(ส่วน)ผู้ไม่เห็นพระสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :244 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 2. วักกลิเถราปทาน
[55] ร่างกายมีโทษไม่สิ้นสุดเหมือนต้นไม้มีพิษ
เป็นที่อาศัยของโรคทุกชนิด ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์
[56] เพราะฉะนั้น เธอจงเบื่อหน่ายในรูป
พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย
จะถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่ายเถิด’
[57] ข้าพเจ้าถูกพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้แสวงหาประโยชน์พระองค์นั้น ทรงพร่ำสอนอย่างนี้
ได้ขึ้นไปยังภูเขาคิชฌกูฏ เพ่งดูอยู่ที่ซอกภูเขา
[58] พระชินเจ้าผู้มหามุนีประทับยืนอยู่ที่เชิงเขา
เมื่อจะทรงปลอบโยนข้าพเจ้า ได้ตรัสเรียกว่า ‘วักกลิ’
ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสนั้นจึงเบิกบานใจ
[59] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าวิ่งลงไปที่เงื้อมเขาลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ
แต่ก็ถึงแผ่นดินได้โดยสะดวกทีเดียวด้วยพุทธานุภาพ
[60] พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา
คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายอีก
ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว จึงได้บรรลุอรหัตตผล
[61] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระปรีชามาก
ทรงบรรลุจรณธรรม1 ทรงประกาศข้าพเจ้าว่า
เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุต
ในท่ามกลางบุรุษผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 จรณธรรม หมายถึงจรณธรรม 15 มีศีลเป็นต้น (ขุ.อป.อ. 2/61/269)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :245 }