เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 2. วักกลิเถราปทาน
มีทรรศนะที่หาเครื่องกั้นมิได้
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ในชุมนุมชนว่า
[40] ‘จงดูมาณพนี้ ผู้นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลือง
มีสังวาลทองคำคล้องกาย
ดึงดูดดวงตาและดวงใจของหมู่ชนไว้ได้
[41] ในอนาคตกาล
มาณพนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สัทธาธิมุต
จักได้เป็นสาวกของพระโคดม
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[42] เขาเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
จักเป็นผู้เว้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง
เป็นที่รวมแห่งโภคะทุกอย่าง มีความสุขเวียนว่ายตายเกิดไป
[43] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[44] มาณพผู้นี้จักมีนามว่าวักกลิ ตามโคตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นพระสาวกของพระศาสดา’
[45] ด้วยผลกรรมที่วิเศษนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[46] ข้าพเจ้ามีความสุขในที่ทุกสถาน
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้เกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :243 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 2. วักกลิเถราปทาน
[47] ข้าพเจ้าผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น
นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อนซึ่งยังนอนหงายอยู่
[48] มารดาถูกภัยคือปีศาจคุกคาม
มีใจหวาดกลัวจึงให้นอนลง
แทบพระยุคลบาทของพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระโลกนาถ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์
ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของเขาด้วยเถิด’
[49] ครั้งนั้น พระมุนีพระองค์นั้นผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของหมู่สัตว์ผู้หวาดกลัว ได้ทรงรับข้าพเจ้า
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ที่บริสุทธิ์อ่อนนุ่มมีตาข่ายกำหนดด้วยจักร
[50] จำเดิมแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องเฝ้ารักษา
จึงพ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่อย่างสุขสำราญ
[51] ข้าพเจ้าห่างจากพระสุคตเพียงครู่เดียว ก็กระวนกระวาย
พออายุได้ 7 ขวบ ก็บวชเป็นบรรพชิต
[52] ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่อิ่มอยู่ เพราะเห็นพระรูปกายที่ประเสริฐ
ซึ่งเกิดจากพระบารมีทุกอย่าง
มีดวงตาสีดำสนิท มีผิวพรรณสัณฐานงดงาม
[53] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงทราบว่า
ข้าพเจ้ายินดีในพระรูป
จึงได้ตรัสสอนข้าพเจ้าว่า ‘อย่าเลย วักกลิ
ทำไม เธอจึงยินดีในรูปที่ชนพาลชอบเล่า
[54] ผู้ใดเห็นพระสัทธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเห็นเรา
(ส่วน)ผู้ไม่เห็นพระสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :244 }