เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 1. มหากัจจายนเถราปทาน
มีใจเบิกบาน ซึ่งเกิดแต่ธรรม
มีรัศมีเรืองรองเหมือนถูกรดด้วยน้ำอมฤต
[14] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ได้ฟังคุณของพระกัจจายนะแล้ว
จึงได้ยืนปรารถนาตำแหน่งนั้น
ในอนาคตกาลของพระโคดมพุทธเจ้า
[15] ฤๅษีผู้นี้มีนามว่ากัจจายนะ ตามโคตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดา
[16] เขาจักเป็นพหูสูต มีญาณยิ่งใหญ่
รู้อธิบายชัดแจ้ง เป็นมุนี
จักถึงตำแหน่งนั้น ดังที่เราพยากรณ์ไว้’
[17] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[18] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน 2 ภพ
คือ (1) ภพเทวดา (2) ภพมนุษย์
คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[19] ข้าพเจ้ารู้เฉพาะ 2 ตระกูล
คือ (1) ตระกูลกษัตริย์ (2) ตระกูลพราหมณ์
จะไม่เกิดในตระกูลที่ต่ำ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[20] ในภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนีที่รื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :239 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 1. มหากัจจายนเถราปทาน
[21] เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อว่าติปีติวัจฉะ
เป็นผู้ฉลาด เรียนจบพระเวท
ส่วนมารดาของข้าพเจ้าชื่อว่าจันทนปทุมา
ข้าพเจ้าชื่อว่ากัจจายนะ เป็นผู้มีผิวพรรณสวยงาม
[22] ข้าพเจ้าถูกพระเจ้าแผ่นดิน
ทรงส่งไปเพื่อพิจารณา(สืบข่าว)พระพุทธเจ้า
ได้เห็นพระผู้นำซึ่งเป็นประตูของโมกขบุรี1
เป็นที่สั่งสมพระคุณ
[23] และได้ฟังพุทธภาษิตที่ปราศจากมลทิน
เป็นเครื่องชำระล้างเปือกตมคือคติ
ได้บรรลุอมตธรรมที่สงบระงับ
พร้อมกับบุรุษที่เหลืออีก 7 คน
[24] ข้าพเจ้าเป็นผู้รู้อธิบายในอมตบทที่ยิ่งใหญ่ของพระสุคต
และมีมโนรถอันสำเร็จด้วยดี ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเอตทัคคะ
[25] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[26] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

เชิงอรรถ :
1 โมกขบุรี หมายถึงบุรีคือพระนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :240 }