เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [53. ติณทายกวรรค] 10. สุคันธเถราปทาน
เป็นผู้ให้ความสุขแก่สรรพสัตว์
เพราะกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับแต่ความสุข
[115] ข้าพเจ้าผู้ประกอบด้วยปีติในพระพุทธเจ้า
สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า
เป็นที่พอใจของตนเอง และเป็นที่พอใจของคนอื่น
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีความพอใจ
[116] พระชินเจ้าพระองค์ใด ทรงย่ำยีพวกเดียรถีย์
ล่วงพ้นเดียรถีย์ได้
ข้าพเจ้าเมื่อสรรเสริญคุณของพระชินเจ้าพระองค์นั้น
จึงชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีแต่ความรุ่งเรือง
[117] ข้าพเจ้าเมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้กระทำตนให้เป็นที่รักแม้ของประชาชน
เป็นเหมือนดวงจันทร์อันมีในสารทกาล1
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้น่ารัก น่าชม
[118] ข้าพเจ้าชมเชยพระสุคตด้วยวาจาทุกอย่างตามความสามารถ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีปฏิภาณวิจิตรเหมือนท่านพระวังคีสะ
[119] คนพาลเหล่าใดเป็นผู้มีความสงสัย จึงดูหมิ่นพระมหามุนี
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงข่มคนพาลเหล่านั้นโดยการข่มขี่ที่ชอบธรรม
[120] ข้าพเจ้าช่วยกำจัดกิเลสทั้งหลายของเหล่าสัตว์
ด้วยการสรรเสริญพระพุทธเจ้า
เพราะอานุภาพของกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีจิตปราศจากกิเลส

เชิงอรรถ :
1 สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท ย่างเข้าฤดูหนาว (องฺ.ติก.(แปล) 20/64/248,95/328)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :234 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [53. ติณทายกวรรค] 10. สุคันธเถราปทาน
[121] ข้าพเจ้าแสดงพุทธานุสสติ
ได้ทำปัญญาเครื่องตรัสรู้ให้เกิดแก่ผู้ฟัง
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งอรรถที่ละเอียด
[122] ข้าพเจ้าเป็นผู้สิ้นอาสวะทุกอย่าง
จักข้ามพ้นห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปได้
และเป็นผู้ได้วสี ไม่ถือมั่น1 ถึงความดับสนิท
[123] ในกัปนี้เอง ข้าพเจ้าได้สดุดีพระชินเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[124] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[125] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[126] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุคันธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุคันธเถราปทานที่ 10 จบ
ติณทายกวรรคที่ 53 จบบริบูรณ์

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ไม่ถือมั่น หมายถึงไม่ถือกิเลสเครื่องยึดมั่นถือมั่น คือ อุปาทาน 4 ประการ คือ (1) กามุปาทาน
(2) ทิฏฐุปาทาน (3) สีลัพพตุปาทาน (4) อัตตวาทุปาทาน (ที.ปา. (แปล) 11/312/293)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :235 }