เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [53. ติณทายกวรรค] 10. สุคันธเถราปทาน
[94] เป็นพระฤาษีทรงฝึกพระองค์เองและฝึกมหาชน
ทรงสงบระงับเองและทำให้มหาชนสงบระงับ
ทรงดับกิเลสเองและทรงยังมหาชนให้ดับกิเลส
ทรงเบาพระทัยเองและทรงให้มหาชนเบาใจ
[95] ทรงมีความแกล้วกล้า องอาจ กล้าหาญ มีพระปัญญา
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรงได้วสี ทรงมีชัยชนะ
ทรงชนะแล้ว ไม่ทรงคะนอง ทรงหมดความห่วงใย
[96] เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นคลอน เป็นนักปราชญ์
ไม่หลงใหล ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นมุนี ทรงฝักใฝ่ในธุระ
ทรงกล้าหาญแม้ในหมู่เจ้าลัทธิ ดังพญาโคอุสภะ
พญาคชสาร และพญาราชสีห์
[97] เป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากมลทิน
เป็นดังพรหม ฉลาดกว่านักปราชญ์
กำจัดเสียซึ่งข้าศึกคือกิเลส หมดเสี้ยนหนาม
ปราศจากความเศร้าโศก ไม่มีใครเสมอเหมือน
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้หมดจด
[98] เป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นที่พึ่ง เป็นหมอ
เป็นผู้กำจัดลูกศร(คือความโศก) เป็นนักรบ
เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้คงแก่เรียนและเรียนรู้กว้างขวาง
ไม่หวั่นไหว มีใจเบิกบาน ยิ้มแย้ม
[99] ทรงฝึกอินทรีย์ เป็นผู้นำตนไป เป็นผู้ทำ เป็นผู้นำ
เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ยังสัตว์ให้ร่าเริง
เป็นผู้วิด เป็นผู้ตัด เป็นผู้ฟัง เป็นผู้สรรเสริญ
[100] เป็นผู้ไม่มีลิ่มสลัก ปราศจากลูกศร ไม่มีทุกข์
ไม่มีความสงสัย เป็นผู้หมดตัณหา
ปราศจากธุลี เป็นผู้ขุด เป็นผู้ทำลาย
เป็นผู้กล่าว เป็นผู้ทำให้ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :231 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [53. ติณทายกวรรค] 10. สุคันธเถราปทาน
[101] เป็นผู้ช่วยสัตว์ให้ข้าม ให้ทำประโยชน์ ให้สร้างประโยชน์
เป็นผู้ช่วยให้ถึงสัมปทา เป็นผู้ช่วยสัตว์ให้บรรลุ
เป็นผู้มีประโยชน์เกื้อกูล เป็นผู้ฆ่า
ทรงทำกิเลสให้เร่าร้อน ทำตัณหาให้เหือดแห้ง
[102] ดำรงอยู่ในสัจจะ หาผู้เสมอเหมือนมิได้
ไม่มีสหาย ทรงมีความกรุณา มีความมหัศจรรย์
ไม่ทรงหลอกลวง เป็นผู้ทำ
เป็นฤๅษี เป็นผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
[103] ทรงข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว
ไม่ทรงถือพระองค์ ทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีใครเปรียบเทียบ ไม่ยึดถือถ้อยคำทุกชนิด
บรรลุธรรมที่ควรแนะนำทุกประการ ทรงชนะหมู่มาร
[104] ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
พระนามว่าสตรังสีพระองค์นั้น
เป็นเหตุนำอมตมหานิพพานมาให้
เพราะฉะนั้น ความศรัทธาในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ จึงมีประโยชน์มาก
[105] ข้าพเจ้าสรรเสริญพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นสรณะอย่างสูงสุดของโลกทั้ง 3
ด้วยคุณมีอย่างนี้เป็นต้น
จึงแสดงธรรมกถาในท่ามกลางบริษัท
[106] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้เสวยความสุขมากในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วเกิดในมนุษย์ เป็นผู้มีกลิ่นหอม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :232 }