เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [50. กิงกณิปุปผวรรค] 1. ตีณิกิงกณิปุปผิยเถราปทาน
50. กิงกณิปุปผวรรค
หมวดว่าด้วยดอกกระดิ่งเป็นต้น
1. ตีณิกิงกณิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตีณิกิงกณิปุปผิยเถระ
(พระตีณิกิงกณิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์ ประทับนั่งอยู่ที่ซอกภูเขา
[2] ข้าพเจ้าเก็บดอกกระดิ่งทอง 3 ดอกมาบูชา
ครั้นบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศใต้
[3] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[4] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[5] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[6] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :166 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [50. กิงกณิปุปผวรรค] 2. ปังสุกูลปูชกเถราปทาน
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[7] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตีณิกิงกณิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตีณิกิงกณิปุปผิยเถราปทานที่ 1 จบ

2. ปังสุกูลปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปังสุกูลปูชกเถระ
(พระปังสุกูลปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[8] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออุทัพพละ ที่ภูเขานั้น
ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลแขวนห้อยอยู่บนยอดไม้
[9] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง บันเทิงใจ
ได้เลือกเก็บดอกกระดิ่งทอง 3 ดอกมาบูชาผ้าบังสุกุล
[10] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[11] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
เพราะการบูชาธงชัยแห่งพระอรหันต์
จึงไม่รู้จักทุคติเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :167 }