เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 9. ธัมมรุจิเถราปทาน
ผู้ทรงมีเหตุปัจจัยบริสุทธิ์ในชาติปางก่อน
บัดนี้ ข้าพระองค์ได้พบพระสรีระของพระองค์
นับว่าเป็นการเห็นที่ประเสริฐแท้ ไม่มีสิ่งเปรียบ
[185] ความมืดคือโมหะ พระองค์ขจัดได้สิ้นเชิงหนอ
ข้าพเจ้าชมเชยพระองค์แล้ว
แม่น้ำคือตัณหา อันพระองค์ผู้มีอินทรีย์อันรักษาไว้ดีแล้ว
ให้เหือดแห้งไปโดยสิ้นเชิง พระนิพพานที่ไม่มีมลทิน1
อันพระองค์ทรงชำระดีแล้ว สิ้นกาลนาน
ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์บรรลุนัยนา2
ที่สำเร็จด้วยญาณสิ้นกาลนาน
[186] ข้าพระองค์พินาศไปในระหว่างตลอดกาลนาน
ข้าแต่พระโคดม แต่วันนี้ ข้าพระองค์ได้พบพระองค์
การพบเป็นต้นที่ได้ทำไว้จักไม่พินาศไปอีก
[187] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[188] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

เชิงอรรถ :
1 พระนิพพานที่ไม่มีมลทิน หมายถึงบรรลุนิพพาน (ขุ.อป.อ. 2/185-86/261)
2 บรรลุนัยนา หมายถึงทิพพจักขุ (ขุ.อป.อ. 2/185-86/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :160 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 10. สาลมัณฑปิยเถราปทาน
[189] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธัมมรุจิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมรุจิเถราปทานที่ 9 จบ

10. สาลมัณฑปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสาลมัณฑปิยเถระ
(พระสาลมัณฑปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[190] ข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าไม้สาละ สร้างอาศรมอย่างสวยงาม
มุงบังด้วยดอกสาละ อยู่ในป่าใหญ่
[191] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เป็นพระสยัมภู
เป็นบุคคลผู้เลิศ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ผู้ทรงประสงค์วิเวก ได้เสด็จเข้าไปยังป่าไม้สาละ
[192] ข้าพเจ้าได้ออกจากอาศรมไปยังป่าใหญ่
เที่ยวแสวงหาเผือกมันและผลไม้ในป่า ในเวลานั้น
[193] ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ประทับนั่งเข้าสมาบัติรุ่งโรจน์อยู่ ในป่าใหญ่นั้น
[194] ข้าพเจ้าปักไม้เป็น 4 เส้า ทำปะรำอย่างดี
มุงด้วยดอกสาละเบื้องบนพระพุทธเจ้า
[195] ข้าพเจ้าคงตั้งปะรำซึ่งมุงด้วยดอกสาละไว้ 7 วัน
ทำจิตให้เลื่อมใสในกรรมนั้น
ได้ไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[196] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
เสด็จออกจากสมาธิ ประทับนั่งทอดพระเนตรดูเพียงชั่วแอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :161 }