เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 9. ธัมมรุจิเถราปทาน
[162] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[163] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตรณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตรณิยเถราปทานที่ 8 จบ

9. ธัมมรุจิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธัมมรุจิเถระ
(พระธัมมรุจิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[164] ในเวลาที่พระพุทธชินเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ทรงพยากรณ์สุเมธดาบสว่า
ในกัปนับประมาณมิได้จากกัปนี้ไป
ดาบสนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า
[165] พระมารดาผู้ให้กำเนิดดาบสนี้
จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
ดาบสนี้จักมีนามว่าโคดม
[166] ดาบสนี้จักตั้งความเพียรบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว
จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :157 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 9. ธัมมรุจิเถราปทาน
[167] พระอุปติสสเถระและพระโกลิตเถระจักเป็นพระอัครสาวก
พระอุปัฏฐากชื่อว่าพระอานนท์ จักอุปัฏฐากพระชินเจ้านี้
[168] เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณีจักเป็นพระอัครสาวิกา
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุบาสก
[169] ขุชชุตตราอุบาสิกาและนันทมารดาอุบาสิกาเป็นอัครอุบาสิกา
ต้นไม้เป็นสถานที่ตรัสรู้ของนักปราชญ์ผู้นี้
ชาวโลกเรียกกันว่าต้นอัสสัตถพฤกษ์
[170] มนุษย์และเทวดาได้สดับพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะหาใครเสมอเหมือนมิได้
ต่างเป็นผู้เบิกบานประนมมือนมัสการ
[171] ข้าแต่พระมหามุนี
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นมาณพชื่อเมฆะ ศึกษามาดีแล้ว
ได้สดับคำพยากรณ์อันประเสริฐของสุเมธดาบส
[172] ข้าพเจ้าเป็นผู้คุ้นเคยกับสุเมธดาบส ผู้มีความกรุณา
และรีบออกบวชตามสุเมธดาบส ผู้มีความเพียร ซึ่งบวชอยู่
[173] เป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์และอินทรีย์ 5
มีอาชีวะหมดจด มีสติ เป็นนักปราชญ์
กระทำตามคำสั่งสอนของพระชินเจ้า
[174] ข้าพเจ้าเป็นอยู่อย่างนี้
ถูกปาปมิตรบางคนชักนำในความประพฤติเลวทราม
ถูกขจัดออกจากหนทางที่ชอบแล้ว
[175] เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งวิตก
จึงหลีกออกจากศาสนา
ภายหลังถูกปาปมิตรนั้นชักชวนให้ฆ่ามารดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :158 }