เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 8. ตรณิยเถราปทาน
[154] เราข้ามกระแสน้ำเพียงชั่วขณะจิตเป็นไป
ก็พญาเต่าตัวนี้มีบุญส่งเราข้ามฟาก
[155] ด้วยการส่งพระพุทธเจ้า ข้ามฟากนี้
และด้วยความเป็นผู้มีจิตเมตตา
เขาจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 1,800 กัป
[156] เขาจากเทวโลกมามนุษยโลกนี้
อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว
นั่ง ณ อาสนะเดียวจักข้ามกระแสความสงสัยได้
[157] พืชแม้น้อยที่ชาวนาหว่านลงในผืนนาที่ดี
เมื่อฝนตกลงอยู่โดยชอบ
ผลย่อมทำให้ชาวนายินดี แม้ฉันใด
[158] พุทธเขตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบุญให้ผลสม่ำเสมอ
ผลก็จักทำให้ข้าพเจ้ายินดี
[159] ข้าพเจ้ามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว
อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[160] ในกัปที่ 1,800 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการส่งพระพุทธเจ้าข้ามฟาก
[161] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :156 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 9. ธัมมรุจิเถราปทาน
[162] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[163] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตรณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตรณิยเถราปทานที่ 8 จบ

9. ธัมมรุจิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธัมมรุจิเถระ
(พระธัมมรุจิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[164] ในเวลาที่พระพุทธชินเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ทรงพยากรณ์สุเมธดาบสว่า
ในกัปนับประมาณมิได้จากกัปนี้ไป
ดาบสนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า
[165] พระมารดาผู้ให้กำเนิดดาบสนี้
จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
ดาบสนี้จักมีนามว่าโคดม
[166] ดาบสนี้จักตั้งความเพียรบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว
จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :157 }