เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 3. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[95] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการกระทำการบูชาด้วยดอกไม้
[96] ก็คนที่ใช้ดอกไม้กั้น(แดด)ให้เราตั้งแต่เช้าจดเย็น
จักเป็นผู้ประกอบด้วยกรรมดีปรากฏต่อไปในภายภาคหน้า
[97] เขาปรารถนาสิ่งใด ๆ
สิ่งนั้น ๆ จักปรากฏตามความประสงค์
เขาทำความดำริชอบให้บริบูรณ์
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
ภาณวารที่ 18 จบ

[98] ข้าพเจ้านั่งบนอาสนะเดียว มีสติสัมปชัญญะ
เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต
[99] ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ก็ตาม
ย่อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอยู่ทุกขณะ
[100] ความพร่องในปัจจัยนั้น ๆ
คือจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจยเภสัชบริขาร ที่นอน ที่นั่ง
มิได้มีแก่ข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[101] บัดนี้ ข้าพเจ้าบรรลุอมตบทที่สงบระงับอย่างยอดเยี่ยม
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[102] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :15 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 4. มธุมังสทายกเถราปทาน
[103] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวง1 ข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[104] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[105] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสูลกฉาทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสูลกฉาทนิยเถราปทานที่ 3 จบ

4. มธุมังสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมธุมังสทายกเถระ
(พระมธุมังสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[106] ข้าพเจ้าเป็นคนฆ่าสุกรอยู่ในกรุงพันธุมดี
ได้ต้มเครื่องในแล้วใส่ผสมลงในเนื้อชั้นดี
[107] ข้าพเจ้าได้ไปยังที่ประชุมสงฆ์ รับบาตรมาใบหนึ่ง
บรรจุบาตรนั้นจนเต็มแล้ว ได้ถวายภิกษุสงฆ์

เชิงอรรถ :
1 ภพทั้งปวง ได้แก่ กรรมภพ อุปัตติภพ, กามภพ รูปภพ อรูปภพ, สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนา-
สัญญีภพ, เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ (ขุ.เถร.อ. 1/121/376)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :16 }