เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[69] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิด เสวยสมบัติในภพน้อยภพใหญ่
ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลในการสรรเสริญพระญาณ
[70] ไฟ 3 กอง ข้าพเจ้าดับได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[71] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระญาณไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลในการสรรเสริญพระญาณ
[72] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[73] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[74] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระญาณัตถวิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณัตถวิกเถราปทานที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :144 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 5. จันทนมาลิยเถราปทาน
5. จันทนมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจันทนมาลิยเถระ1
(พระจันทนมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[75] ข้าพเจ้าละเบญจกามคุณที่น่ายินดี น่าพอใจ
และละทรัพย์ประมาณ 80 โกฏิแล้ว จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[76] ครั้นบวชแล้ว ได้เว้นกายทุจริต
ละวจีทุจริต อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
[77] ข้าพเจ้าอยู่คนเดียว พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ได้เสด็จมาใกล้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า
แต่ก็ได้ทำการปฏิสันถาร
[78] ครั้นทำการปฏิสันถารแล้ว จึงได้ทูลถามถึงชื่อและโคตรว่า
ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
[79] ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร
หรือเป็นท้าวมหาพรหม มา ณ ที่นี้
สว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย
[80] ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ จักรมีกำพันหนึ่งปรากฏที่เท้าของท่าน
ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร เราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
ขอท่านจงบอกชื่อและโคตร ขจัดความสงสัยของเราเถิด
[81] พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ใช่เทวดา
ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ
และเราไม่ได้เป็นพรหม
เราเป็นผู้สูงส่งกว่าชนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 พระจันทนมาลิยเถระ หมายถึงพระวัลลิยเถระหรือพระกัณหมิตตะ ชาวกรุงเวสาลี (ขุ.เถร.อ. 1/168/451)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :145 }