เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[54] พระองค์ผู้เป็นพระศาสดาผู้สูงสุด
แห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้ปรากฏดุจธง
เป็นดุจธงชัยและเป็นดุจเสาพิธีผูกสัตว์บูชายัญ
เป็นที่หมายปอง เป็นที่พึ่ง และเป็นดุจดวงประทีปของหมู่สัตว์
ภาณวารที่ 21 จบ

[55] พระองค์เป็นผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์ในญาณทัสสนะ1
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นไปได้
ข้าแต่พระมุนี ผู้อื่นที่จะช่วยหมู่สัตว์
ให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร)ไปได้ยิ่งกว่าพระองค์ไม่มีในโลก
[56] มหาสมุทรที่ลึกที่สุด ก็พึงอาจที่จะประมาณได้ด้วยปลายหญ้าคา
ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนพระญาณของพระองค์
ใคร ๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย
[57] แผ่นดินก็อาจจะวางลงบนตราชั่งแล้วชั่งดูได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
แต่สิ่งที่เสมอด้วยพระปัญญาของพระองค์ไม่มีเลย
[58] อากาศก็อาจจะวัดได้ด้วยเชือกและนิ้วมือ
ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนศีลของพระองค์
ใคร ๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย
[59] น้ำในมหาสมุทร อากาศและพื้นแผ่นดิน
สิ่งทั้ง 3 นี้ ก็พึงอาจประมาณได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
พระองค์เป็นผู้ที่ใคร ๆ จะประมาณไม่ได้เลย

เชิงอรรถ :
1 ญาณทัสสนะ หมายถึงมัคคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ วิปัสสนาญาณ (ที.สี.อ.
1/234/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :142 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[60] ข้าพเจ้ากล่าวสรรเสริญพระสัพพัญญู
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ด้วยคาถา 6 คาถาแล้ว
ประนมมือยืนนิ่งอยู่ในเวลานั้น
[61] พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาเสมอด้วยพื้นปฐพี
เป็นเมธีชั้นเลิศ ซึ่งชนทั้งหลายถวายพระนามว่าสุเมธะ
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[62] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเลื่อมใส
ได้กล่าวสรรเสริญญาณของเรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[63] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 77 กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติอยู่ในเทวโลกตลอด 1,000 ชาติ
[64] จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหลายร้อยชาติ
และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[65] เขาจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ก็จักเป็นผู้มั่นคงในกรรมดี
จักเป็นผู้มีความดำริไม่บกพร่อง มีปัญญาเฉียบแหลม
[66] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[67] ผู้นี้จักไม่มีความกังวล ออกบวช
จักบรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ
[68] ในระหว่างกาลที่ข้าพเจ้าจำความได้
จนถึงการบรรลุศาสนธรรมนี้
ข้าพเจ้าไม่รู้จักความไม่สบายใจเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :143 }