เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณัตถวิกเถระ
(พระญาณัตถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[46] ข้าพเจ้าสร้างอาศรมอย่างสวยงามไว้
ณ ทิศใต้แห่งภูเขาหิมพานต์
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์สูงสุด
จึงอาศัยอยู่ในป่าใหญ่
[47] ข้าพเจ้ายินดีด้วยเหง้ามันและผลไม้ตามมีตามได้
ไม่เที่ยวแสวงหา อยู่เพียงผู้เดียว
[48] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
พระองค์ทรงประกาศสัจจะ 4 ช่วยฉุดมหาชนขึ้น
[49] ข้าพเจ้ามิได้สดับข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้ใคร ๆ ก็ไม่บอกข้าพเจ้า เมื่อล่วงไปได้ 8 ปี
ข้าพเจ้าจึงได้สดับข่าวพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[50] ข้าพเจ้านำไฟและฟืนออกแล้ว
กวาดอาศรม หาบบริขารออกจากป่าใหญ่ไป
[51] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าพักอยู่ในบ้านและนิคม 1 คืน
เข้าไปใกล้กรุงจันทวดีโดยลำดับ
[52] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าสุเมธะ
ทรงแสดงอมตบทช่วยฉุดสัตว์จำนวนมากขึ้น
[53] ข้าพเจ้าได้ผ่านหมู่ชนเข้าไปไหว้พระชินเจ้าผู้เสด็จมาดีแล้ว
ทำผ้าหนังสัตว์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
แล้วสรรเสริญพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :141 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[54] พระองค์ผู้เป็นพระศาสดาผู้สูงสุด
แห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้ปรากฏดุจธง
เป็นดุจธงชัยและเป็นดุจเสาพิธีผูกสัตว์บูชายัญ
เป็นที่หมายปอง เป็นที่พึ่ง และเป็นดุจดวงประทีปของหมู่สัตว์
ภาณวารที่ 21 จบ

[55] พระองค์เป็นผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์ในญาณทัสสนะ1
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นไปได้
ข้าแต่พระมุนี ผู้อื่นที่จะช่วยหมู่สัตว์
ให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร)ไปได้ยิ่งกว่าพระองค์ไม่มีในโลก
[56] มหาสมุทรที่ลึกที่สุด ก็พึงอาจที่จะประมาณได้ด้วยปลายหญ้าคา
ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนพระญาณของพระองค์
ใคร ๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย
[57] แผ่นดินก็อาจจะวางลงบนตราชั่งแล้วชั่งดูได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
แต่สิ่งที่เสมอด้วยพระปัญญาของพระองค์ไม่มีเลย
[58] อากาศก็อาจจะวัดได้ด้วยเชือกและนิ้วมือ
ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนศีลของพระองค์
ใคร ๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย
[59] น้ำในมหาสมุทร อากาศและพื้นแผ่นดิน
สิ่งทั้ง 3 นี้ ก็พึงอาจประมาณได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
พระองค์เป็นผู้ที่ใคร ๆ จะประมาณไม่ได้เลย

เชิงอรรถ :
1 ญาณทัสสนะ หมายถึงมัคคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ วิปัสสนาญาณ (ที.สี.อ.
1/234/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :142 }