เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 2. พุทธสัญญกเถราปทาน
[10] ครั้งนั้น ศิษย์ทั้งหลายพากันมาหาข้าพเจ้าไม่ขาดสาย
เหมือนกระแสน้ำ ข้าพเจ้าไม่เกียจคร้าน
สอนมนตร์แก่ศิษย์เหล่านั้นทั้งกลางวันและกลางคืน
[11] ในคราวนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงกำจัดความมืดมนให้พินาศแล้ว
ให้แสงสว่างคือพระญาณเป็นไป
[12] ครั้งนั้น ศิษย์ของข้าพเจ้าคนหนึ่ง
ได้บอกแก่ศิษย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า
พวกเขาได้ฟังความนั้น จึงบอกแก่ข้าพเจ้า
[13] ข้าพเจ้าคิดว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
ชนย่อมประพฤติตามพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แต่เราไม่มีลาภเลย
[14] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีการอุบัติเลิศลอย
มีพระจักษุ มีพระยศยิ่งใหญ่ ไฉนหนอ
เราควรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[15] ข้าพเจ้าถือหนังสัตว์ ผ้าเปลือกไม้
และคนโทน้ำของข้าพเจ้าแล้ว จึงออกจากอาศรม
เรียกศิษย์ทั้งหลายมา (กล่าวว่า)

เชิงอรรถ :
7 นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ซึ่งรวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยากหรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย เป็น
ส่วนหนึ่งของปรกติ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า นิฆัณฏุ
(ที.สี.อ. 1/256/223)
8 เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็น
ส่วนหนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
(ที.สี.อ. 1/256/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :136 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [49. ปังสุกูลวรรค] 2. พุทธสัญญกเถราปทาน
[16] ความเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกนี้หาได้ยาก
เหมือนหาดอกมะเดื่อที่ดี เหมือนหากระต่ายในดวงจันทร์
หรือเหมือนหาน้ำมันกา1
[17] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
แม้ความเป็นมนุษย์ก็หาได้ยาก เมื่อทั้ง 2 อย่างมีอยู่
แต่การได้สดับพระสัทธรรมก็หาได้ยากยิ่ง
[18] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
ความเจริญจักมีแก่พวกเราผู้ได้ดวงตา มาเถิดท่านทั้งหลาย
เราทุกคนจักไปยังสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[19] ศิษย์ทุกคนสะพายคนโทน้ำ นุ่งผ้าหนังสัตว์ที่มีเล็บ
ในครั้งนั้น พวกเขาเกล้าชฎาและหาบบริขารพากันออกจากป่าใหญ่
[20] พวกเขาทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก
แสวงหาประโยชน์สูงสุด เดินมาเหมือนลูกช้าง
เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ดุจพญาไกรสรราชสีห์
[21] พวกเขาไม่มีความสะดุ้ง หมดความละโมบ
มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ
เที่ยวไปพร้อมด้วยเสบียงกรังเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[22] ในระยะทาง 1 โยชน์ครึ่ง ข้าพเจ้าได้เกิดเจ็บป่วยขึ้น
จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดแล้วสิ้นชีวิตในที่นั้น
[23] ในกัปที่ 94 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้สัญญาในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการได้สัญญาในพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
1 น้ำมันกาหายาก เพราะกาทั้งหลายถูกความหิวความสะดุ้งเบียดเบียนทั้งกลางคืนและกลางวันจึงหามัน
เหลวได้ยาก (ขุ.อป.อ. 2/16/260)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :137 }