เมนู

ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 สุตตันตปิฎกที่ 25 ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค 2 พุทธวงศ์ จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 1. ภัททาลิเถราปทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

42. ภัททาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระภัททาลิเป็นต้น
1. ภัททาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททาลิเถระ

(พระภัททาลิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้เลิศ
ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงเป็นผู้เลิศในโลก
ทรงเป็นมุนี เมื่อประสงค์วิเวก1
จึงได้เสด็จไปยังภูเขาหิมพานต์
[2] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงองอาจกว่าบุรุษ
ครั้นเสด็จไปยังภูเขาหิมพานต์แล้ว ได้ประทับนั่งขัดสมาธิ
[3] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก

เชิงอรรถ :
1 วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(ความสงัดกาย)และจิตตวิเวก(ความสงัดจิต) (ขุ.อป.อ. 2/43/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :1 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 1. ภัททาลิเถราปทาน
ผู้เป็นบุรุษสูงสุด1 พระองค์นั้น
ประทับนั่งเข้าสมาบัติตลอด 7 วัน 7 คืน
[4] ข้าพเจ้าคอนหาบเข้าไปถึงกลางป่า
ณ ที่นั้นได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ข้ามโอฆะ2 ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[5] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดอาศรม
ปักไม้เป็น 4 เส้า ทำเป็นมณฑป
[6] ข้าพเจ้าเก็บดอกสาละมามุงเป็นหลังคามณฑป
เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ไหว้พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
[7] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ที่ชนทั้งหลายสรรเสริญกันว่า
มีพระปัญญาดังแผ่นดิน มีพระปัญญาดี
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กำลังจะตรัสพระคาถาเหล่านี้
[8] เทวดาทั้งปวงทราบว่า พระพุทธเจ้าจะทรงเปล่งวาจา
จึงพากันมาประชุมด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้มีพระจักษุ จะทรงแสดงธรรมโดยแน่แท้
[9] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่เทวดา
ได้ตรัสพระคาถาดังต่อไปนี้ว่า
[10] เราจักพยากรณ์ผู้ตั้งมณฑป
มีดอกสาละเป็นเครื่องมุงสำหรับเราตลอด 7 วัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
1 ผู้เป็นบุรุษสูงสุด หมายถึงผู้สูงกว่ามนุษย์ด้วยคุณธรรม (ขุ.อป.อ. 2/129/35)
2 โอฆะ หมายถึงกิเลสท่วมทับใจสัตว์มี 4 คือ (1) กาโมฆะ โอฆะคือกาม (2) ภโวฆะ โอฆะคือภพ
(3) ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ (4) อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา (ขุ.เถร.อ. 1/15/100, ที.ปา. (แปล)
11/312/292)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :2 }