เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 10. อานันทเถราปทาน
[649] เราจักพยากรณ์ราชกุมาร
ผู้ที่ได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทองนั้น
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[650] ราชกุมารนี้จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว
จักไปครองสวรรค์ชั้นดุสิต
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อมเสวยสมบัติ
[651] จักครองเทวสมบัติ 34 ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน 108 ชาติ
[652] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 58 ชาติ
จักครองความเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน
[653] ในกัปที่ 100,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติในโลก
[654] ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นธงชัยแห่งศากยะตระกูล มีนามว่าอานนท์
เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[655] มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เฉลียวฉลาดในพาหุสัจจะ
ประพฤติถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปาฐะทั้งปวง
[656] พระอานนท์นั้นมีจิตเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 10. อานันทเถราปทาน
[657] ช้างกุญชรเกิดในป่า เป็นช้างตระกูลมาตังคะ
เสื่อมกำลังเมื่ออายุ 60 ปี ตกมัน 3 แห่ง
มีงางอนงาม1 ควรเป็นราชพาหนะ2 ฉันใด
[658] แม้บัณฑิตหลายแสนรูปก็ฉันนั้น มีฤทธิ์มาก
ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ท่านเหล่านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ในการตัดสินใจ
[659] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสมีใจยินดีนอบน้อม
ทั้งในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม
เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[660] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีสติสัมปชัญญะ
บรรลุโสดาปัตติผล เฉลียวฉลาดในเสขภูมิ
[661] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สร้างกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วมีผลมาก
[662] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[663] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอานนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อานนทเถราปทานที่ 10 จบ
อปทาน พุทธวรรคที่ 1 จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :100 }