เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
(แต่)ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้
ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้1
[575] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้
พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ 3 กอง2แผดเผาอยู่
ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ 3 กองให้แล้ว
[576] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย
โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท3แล้ว
[577] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้
จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ
[578] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ4ไปเลย
เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก
ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด
ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว
[579] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก
ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก
และยารักษาแก่บุคคลบางพวก

เชิงอรรถ :
1 ฉบับเก่าประธานของประโยคคือ ตฺวํ (คือ สัพพนาม แทน คำว่า ภควา ซึ่งพระอุบาลี กำลังกราบทูลอยู่)
ดูตามความแล้ว หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต และอรรถกถาก็ขึ้น ปจฺเจกพุทฺโธ เป็นประธาน
2 ไฟ 3 กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ
(ขุ.อป.อ. 1/575/353)
3 บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/576/353)
4 ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น (ขุ.อป.อ. 1/578/353)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[580] คือพระผู้มีพระภาค ตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ
ตรัสบอกยาถ่ายแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในผล
ตรัสบอกยารักษาโรคแก่บุคคลผู้ได้ผลแล้ว
ตรัสบอกบุญเขตแก่บุคคลผู้แสวงบุญ
[581] ตรัสบอกยาพิษร้ายแรง(คือบาปอกุศล)
แก่บุคคลผู้เป็นข้าศึกต่อศาสนา
ยาพิษร้ายแรงย่อมแผดเผานรชนนั้น
เหมือนอสรพิษร้าย ฉะนั้น
[582] ยาพิษร้ายแรงที่บุคคลดื่มแล้วเพียงครั้งเดียว
ก็ย่อมทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลทำผิดต่อศาสนาแล้ว
ย่อมถูกแผดเผานับเป็นโกฏิกัป
[583] พระองค์ทรงช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)
ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน
และด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[584] พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นเช่นพื้นปฐพี
ไม่ทรงติดข้องในลาภ ในความเสื่อมลาภ
ในความสรรเสริญ ในความถูกดูหมิ่น
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[585] พระมุนีทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง คือ ในพระเทวทัต
นายขมังธนู โจรองคุลีมาล พระราหุล และช้างธนบาล
[586] พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น
ไม่มีความแค้นเคือง ไม่มีความกำหนัด
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในชนทั้งหมด
คือในนายขมังธนู และในพระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :89 }