เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[527] พึงรับสั่งให้สร้างถนนสี่แยก ทางแยก
ร้านตลาด จัดสรรไว้เป็นอย่างดี
สร้างศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่ตัดสินคดีความไว้ในนครนั้น
[528] เพื่อป้องกันอริราชศัตรู เพื่อจะรู้ช่องทาง(ดีร้าย)
เพื่อดูแลรักษากำลังพล พระราชาเจ้านครนั้น
จึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพไว้
[529] เพื่อรักษาสิ่งของ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคนที่ฉลาด
ในการเก็บรักษาสิ่งของ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งของ
ด้วยตั้งพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าเสียหายไปเลย
[530] ผู้ใดสมัครสมานกับพระราชา
และปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชา
พระราชาย่อมมอบหน้าที่แก่ผู้นั้น1
เพื่อปฏิบัติตอบแทนต่อมิตร
[531] พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงแต่งตั้งผู้ที่ฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตและในลักษณะ
ผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมนตร์2 ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

เชิงอรรถ :
1 บาทคาถาว่า สมคฺโค โหติ โส รญฺโ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น มมตฺโต โหติ โย รญฺโ เดิมแปลว่า
เขาเป็นผู้พร้อมเพรียงกับพระราชา ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ใด ย่อมมอบหน้าที่ คือความเป็นใหญ่
ในการวินิจฉัยแก่ผู้นั้นเพื่อปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตร โส เขาสามัคคีกับพระราชาพอฟังได้ แต่ถ้าจะตั้งคน
ที่ตนชอบพอให้เป็นคนตัดสินคดีความ คงไม่ได้ เพราะ โส คงแทนนามนามที่กล่าวชื่อมาแล้ว คือ คนที่ดูแล
รักษาสิ่งของ ถ้าจะว่า โส แทนบทว่า ราชา ก็ฟังไม่ขึ้น ราชาที่ไหนมาสามัคคีกับราชานี้ จึงแปลตามแนว
ฉบับพม่าและอรรถกถา (มมตฺโต โหติ โย รญฺโติ โย ปณฺฑิโต รญฺโ มมตฺโต มามโก ปกฺขปาโต
โหติ. วุทฺธึ ยสฺส จ อิจฺฉตีติ อสฺส รญฺโ วุฑฺฒึ จ วิรุฬฺหึ โย อิจฺฉติ กาเมติ, ตสฺส อิตฺถมฺภูตสฺส ราชา
อธิกรณํ วินิจฺฉยาธิปจฺจํ เทติ มิตฺตสฺส มิตฺตภาวสฺส ปฏิปชฺชิตุนฺติ สมฺพนฺโธ ขุ.อป.อ. 1/530/344)
2 ผู้ที่ฉลาดลางบอกเหตุ หมายถึงผู้บอกคัมภีร์ไวยากรณ์แก่ศิษย์จำนวนมาก ผู้ทรงจำมนต์ ได้แก่ ผู้ทรง
จำไตรเพท (พระเวท 3 เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ (1) ฤคเวท ประมวลบทความ
สรรเสริญ เทพเจ้า (2) ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (3) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดแล้วร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
ต่อมาเพิ่มอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น 4 (ขุ.อป.อ. 1/531/344)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :80 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[532] พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้
พสกนิกรจึงขนานพระนามว่ากษัตริย์
เหล่าอำมาตย์จึงถวายการอารักขาพระราชาทุกเมื่อ
ดุจนกจักรพากเฝ้ารักษานกผู้ประสบทุกข์
[533] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นดุจกษัตริย์ ผู้ขจัดข้าศึกศัตรูได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงขนานพระนามว่าธรรมราชา
[534] พระองค์ทรงปราบเหล่าเดียรถีย์
ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามาร
ทรงขจัดความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนครคือพระธรรมไว้
[535] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ในนครคือพระธรรมนั้น
พระองค์มีศีลเป็นปราการ มีพระญาณเป็นซุ้มประตู
มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด และมีความสังวรเป็นนายประตู
[536] ข้าแต่พระมุนี พระองค์มีสติปัฏฐานเป็นป้อม
มีพระปัญญาเป็นชุมทาง
มีอิทธิบาทเป็นถนนสี่แยก
ธรรมวิถี พระองค์ก็ทรงสร้างไว้ดีแล้ว
[537] พระองค์มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม
และพระพุทธพจน์มีองค์ 91 แม้ทั้งมวล
นี้เป็นธรรมสภา

เชิงอรรถ :
1 พระพุทธพจน์มีองค์ 9 คือ (1) สุตตะ พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส (2) เคยยะ
ข้อความ ที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน คือพระสูตรที่มีคาถารวมอยู่ด้วยทั้งหมด (3) เวยยากรณะ
ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (4) คาถา
ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรีคาถา (5) อุทาน พระคาถาพุทธอุทาน (6) อิติวุตตกะ พระสูตร
ที่เรียกว่าอิติวุตตกะ มี 112 สูตร (7) ชาตกะ ชาดก 500 เรื่อง (8) อัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์
คือ พระสูตรที่กล่าวถึง ข้ออัศจรรย์ต่าง ๆ (9) เวทัลละ พระสูตรแบบถามตอบ เช่นจูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร) (ขุ.อป.อ. 1/537/345)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :81 }