เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[494] เมื่อแสวงหายาคือพระธรรมก็ได้พบศาสนาของพระศากยะ
ศาสนานั้นเป็นยาชั้นเลิศกว่ายาทุกขนาน
สำหรับบรรเทาลูกศรทุกชนิด1
[495] ข้าพระองค์ดื่มธรรมโอสถแล้วก็ถอนพิษได้ทั้งหมด
ข้าพระองค์ได้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย
เป็นภาวะเย็นสนิท
[496] คนถูกผีคุกคาม ถูกผีสิงบีบคั้น
พึงแสวงหาหมอผี เพื่อรอดพ้นจากผี
[497] เมื่อแสวงหา ก็ได้พบหมอผีผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี
หมอผีนั้นจึงขับไล่ผีให้คนนั้น
และทำผีพร้อมทั้งต้นเหตุให้พินาศ ฉันใด
[498] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกผีคือความมืด(คือกิเลส)เบียดเบียน
จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณเพื่อรอดพ้นจากความมืด
[499] ต่อมา ข้าพระองค์ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความมืดคือกิเลส
พระศากยมุนีนั้น ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์
ดุจหมอผีขับไล่ผีไป ฉะนั้น
[500] ข้าพระองค์ได้ตัดกระแสการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
ห้ามกระแสแห่งตัณหาได้ ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้น
ดุจหมอผีขับไล่ผีไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉะนั้น
[501] พญาครุฑโฉบลงจับนาคซึ่งเป็นภักษาของตน
ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมถึง 100 โยชน์ โดยรอบ

เชิงอรรถ :
1 ลูกศรทุกชนิด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. 1/494/337)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[502] ครั้นพญาครุฑนั้นจับนาคได้แล้ว เบียดเบียนนาค ให้ห้อยหัวลง
มันจับนาคพาบินไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด
[503] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็เหมือนพญาครุฑที่มีพลัง
แสวงหาอสังขตธรรม1 ได้ชำระโทษทั้งหลายแล้ว
[504] ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันประเสริฐ
จึงยึดถือเอาสันติบท2 อันยอดเยี่ยมนี้อยู่
ดุจพญาครุฑจับนาคไป ฉะนั้น
[505] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี3 เกิดในสวนจิตรลดาแล้ว
ล่วงไป 1,000 ปี เถาวัลย์นั้นจึงจะเกิดผลผลหนึ่ง
[506] เทพทั้งหลาย เข้าไปนั่งเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้น
เมื่อกาลนาน ๆ จะมีผลสักคราว
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้นเป็นเถาวัลย์ชั้นสูงสุด
เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดาอย่างนี้
[507] นับได้ 100,000 ปี (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพระองค์จึงจะได้ปรนนิบัติพระมุนีนั้นนอบน้อมทั้งเช้าเย็น
ดุจเหล่าเทวดาได้เข้าไปเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีทั้งเช้าเย็น ฉะนั้น
[508] การปรนนิบัติ(พระพุทธเจ้า)ไม่เป็นหมัน(เปล่าประโยชน์)
และการนอบน้อมก็ไม่เปล่าประโยชน์
ถึงข้าพระองค์จะมาจากที่ไกล
ขณะ4ก็มิได้ล่วงเลยข้าพระองค์ไป

เชิงอรรถ :
1 อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ธรรมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย ได้แก่ พระนิพพาน (ขุ.อป.อ.
1/503/338)
2 สันติบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/504/338)
3 อาสาวดี เป็นชื่อของผิวพรรณที่ได้ยาก ท่านก็กล่าวถึงเถาวัลย์อาสาวดีที่หายากมากในหมู่เทพยดา
เป็นเถาวัลย์ที่เหล่าเทวดาต้องการ (ขุ.อป.อ. 1/505/339)
4 ขณะ ในที่นี้หมายถึงขณะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. 1/508/339)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :76 }