เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 6. พักกุลเถราปทาน
[393] ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่า ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีพระจักษุ
มีพระยศยิ่งใหญ่ จึงได้เข้าเฝ้า
[394] ครั้นได้เห็นพระอิริยาบถก็เข้าใจได้ในทันทีว่า
พระพุทธเจ้าทรงพระประชวรแน่นอน
[395] ข้าพเจ้าจึงรีบกลับมายังอาศรม
ในสำนักของศิษย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขณะนั้นข้าพเจ้าปรึกษาศิษย์ว่า เราต้องการปรุงยา
[396] ศิษย์ทั้งหมดผู้มีความเคารพ
เชื่อฟังข้าพเจ้าแล้วร่วมประชุมกัน
เพราะเคารพข้าพเจ้าผู้เป็นครู
[397] ข้าพเจ้ารีบขึ้นภูเขาไปเก็บยาทุกสิ่งมาปรุง
ได้ปรุงให้เป็นยาสำหรับดื่มถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[398] เมื่อพระมหาวีรเจ้าผู้สัพพัญญู
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสวยแล้ว
โรคลมของพระสุคตผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็สงบลงฉับพลัน
[399] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงเห็นข้าพเจ้ามีความกระวนกระวายสงบแล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[400] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายยา
แก่เราและระงับอาพาธของเราได้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[401] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 100,000 กัป
จักบันเทิงในเทวโลกนั้น ซึ่งมีดนตรีประโคมอยู่ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :636 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 6. พักกุลเถราปทาน
[402] อันกุศลมูลตักเตือนมา(เกิด)ยังมนุษยโลกแล้ว
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 1,000 ชาติ
[403] ในกัปที่ 55 (นับจากกัปนี้ไป)
จักได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าอโนมิ
ทรงมีชัยชนะมีสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต
เป็นใหญ่ในชมพูทวีป
[404] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
ลือกระฉ่อนไปจนถึงภพดาวดึงส์ ครองความเป็นใหญ่
[405] เขา(เกิด)เป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
จักเป็นผู้มีอาพาธน้อย จักเว้นความเร่าร้อนแล้ว
ผ่านพ้นความเจ็บไข้ได้ในโลก
[406] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[407] เขาจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[408] เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ข้ามพ้นกระแสตัณหาได้
จักมีนามว่าพักกุละเป็นสาวกของพระศาสดา
[409] พระโคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนี้ทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :637 }