เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 6. พักกุลเถราปทาน
6. พักกุลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพักกุลเถระ
(พระพักกุลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[386] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อโสภิตะ
พวกศิษย์ของข้าพเจ้า
ช่วยกันสร้างอาศรมอย่างสวยงามให้ข้าพเจ้า
[387] ที่ใกล้อาศรมนั้น มีมณฑปจำนวนมาก
ต้นย่านทรายมีดอกบานสะพรั่ง
ต้นมะขวิด ต้นจำปา ต้นกากะทิง ต้นเกด มีจำนวนมาก
[388] มีต้นคนทีสอ ต้นพุทรา และต้นมะขามป้อม
ต้นมะปราง น้ำเต้า และบัวขาว
มีดอกบานสะพรั่งจำนวนมาก
[389] มีต้นรักขาว ต้นมะตูม ต้นกล้วย และต้นมะงั่ว (มะนาว)
ต้นกระท้อน ต้นรกฟ้าขาว และต้นประยงค์ มีอยู่มาก
[390] มีต้นคำ ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นไทร และต้นมะขวิด
อาศรมของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยศิษย์อยู่ที่อาศรมนั้น
[391] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นพระสยัมภู
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงแสวงหาที่เร้น
เสด็จเข้ามาใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[392] เมื่อพระมหาวีรเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่เสด็จเข้ามาใกล้แล้ว
โรคลมก็เกิดขึ้นแก่พระองค์
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกโดยฉับพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :635 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 6. พักกุลเถราปทาน
[393] ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่า ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีพระจักษุ
มีพระยศยิ่งใหญ่ จึงได้เข้าเฝ้า
[394] ครั้นได้เห็นพระอิริยาบถก็เข้าใจได้ในทันทีว่า
พระพุทธเจ้าทรงพระประชวรแน่นอน
[395] ข้าพเจ้าจึงรีบกลับมายังอาศรม
ในสำนักของศิษย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขณะนั้นข้าพเจ้าปรึกษาศิษย์ว่า เราต้องการปรุงยา
[396] ศิษย์ทั้งหมดผู้มีความเคารพ
เชื่อฟังข้าพเจ้าแล้วร่วมประชุมกัน
เพราะเคารพข้าพเจ้าผู้เป็นครู
[397] ข้าพเจ้ารีบขึ้นภูเขาไปเก็บยาทุกสิ่งมาปรุง
ได้ปรุงให้เป็นยาสำหรับดื่มถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[398] เมื่อพระมหาวีรเจ้าผู้สัพพัญญู
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสวยแล้ว
โรคลมของพระสุคตผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็สงบลงฉับพลัน
[399] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงเห็นข้าพเจ้ามีความกระวนกระวายสงบแล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[400] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายยา
แก่เราและระงับอาพาธของเราได้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[401] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 100,000 กัป
จักบันเทิงในเทวโลกนั้น ซึ่งมีดนตรีประโคมอยู่ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :636 }