เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 2. เสลเถราปทาน
[207] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ 1 จบ

2. เสลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสลเถระ
(พระเสลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[208] ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของถนนอยู่ในกรุงหงสวดี
เรียกประชุมบรรดาญาติของตนแล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า
[209] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลกทั้งปวง
[210] กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณมหาศาลก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[211] พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[212] นายทหารระดับสูงก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี
พราหมณ์ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :609 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 2. เสลเถราปทาน
[213] คนทำขนมก็ดี พ่อครัวก็ดี
คนจัดแจงเครื่องอาบน้ำก็ดี ช่างดอกไม้ก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[214] ช่างย้อมก็ดี ช่างหูกก็ดี ช่างเย็บผ้าก็ดี ช่างกัลบกหญิงก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[215] ช่างศรก็ดี ช่างกลึงก็ดี ช่างหนังก็ดี ช่างถากก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[216] ช่างเหล็กก็ดี ช่างทองก็ดี ช่างดีบุกก็ดี ช่างทองแดงก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[217] ลูกจ้างก็ดี คนเชิญธงก็ดี
ทาสก็ดี กรรมกรก็ดี จำนวนมาก
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[218] คนตักน้ำขายก็ดี คนหาฟืนขายก็ดี
ชาวนาก็ดี คนขนหญ้าก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[219] คนขายดอกไม้ก็ดี คนขายพวงมาลัยก็ดี
คนขายใบไม้ก็ดี คนขายผลไม้ก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[220] หญิงแพศยาก็ดี นางกุมภทาสีก็ดี
คนขายขนมก็ดี คนขายปลาก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :610 }