เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 1. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[201] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุยืน 1 มีกำลัง 1
เป็นนักปราชญ์ 1 มีวรรณะสวยงาม 1
มียศ 1 มีสุข 1 เป็นผู้ได้ข้าว 1 เป็นผู้ได้น้ำ 1
เป็นคนกล้า 1 เป็นผู้มีปัญญา 1
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ได้คุณเหล่านี้
(46. อานิสงส์ของการถวายธูป)
[202] ข้าพเจ้าได้ถวายธูปในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า 10 ประการ
[203] คือเป็นผู้มีกลิ่นตัวหอมฟุ้ง 1 มียศ 1
มีปัญญาไว 1 มีชื่อเสียง 1
มีปัญญาเฉียบแหลม 1 มีปัญญากว้างขวาง 1
มีปัญญาร่าเริง 1 มีปัญญาลึกซึ้ง 1
[204] มีปัญญาไพบูลย์ 1 มีปัญญาแล่นไปเร็ว 1
เพราะผลแห่งการถวายธูปนั้น
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้บรรลุนิพพานซึ่งเป็นสันติสุข ในกาลบัดนี้
(อานิสงส์ทั่ว ๆ ไป)
[205] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[206] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :608 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 2. เสลเถราปทาน
[207] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ 1 จบ

2. เสลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสลเถระ
(พระเสลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[208] ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของถนนอยู่ในกรุงหงสวดี
เรียกประชุมบรรดาญาติของตนแล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า
[209] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลกทั้งปวง
[210] กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณมหาศาลก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[211] พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[212] นายทหารระดับสูงก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี
พราหมณ์ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :609 }