เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [39. อัมพฏผลวรรค] 10. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[63] พระโสณโกฏิวีสเถระ เป็นหัวหน้าของภิกษุสงฆ์
ถูกถามปัญหาแล้วได้พยากรณ์ที่ใกล้สระใหญ่ชื่ออโนดาต ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณโกฏิวีสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณโกฏิวีสเถราปทานที่ 9 จบ

10. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าว่าด้วยบุพกรรมเก่า
(พระอานนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าว่าด้วย
บุพกรรมเก่า จึงกล่าวว่า)
[64] ณ พื้นศิลาที่น่ารื่นรมย์ ใกล้สระอโนดาต
โชติช่วงด้วยรัตนะต่าง ๆ
ในละแวกป่ามีดอกไม้มีกลิ่นหอมนานาชนิด
[65] พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีหมู่ภิกษุหมู่ใหญ่ห้อมล้อม
ประทับนั่งที่ศิลาอาสน์นั้น
ทรงพยากรณ์บุพกรรมของพระองค์ว่า
[66] ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงฟังกรรมของเรา
เราเห็นภิกษุ ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
จึงได้ถวายผ้าเก่าผืนหนึ่ง
[ก] ในกาลนั้น ข้าพเจ้าปรารถนาการตรัสรู้
เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก
ผลของการถวายผ้าเก่าให้ผลในความเป็นพระพุทธเจ้า
[ข] ในชาติปางก่อน เราเกิดเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง
เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่น จึงห้ามมันไว้
[ค] ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ
ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :574 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [39. อัมพฏผลวรรค] 10. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[67] ในชาติอื่น ๆ ในปางก่อน
เราเกิดเป็นนักเลงชื่อว่าปุนาลิ
ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายใคร
[68] ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงได้เวียนว่ายตายเกิด
อยู่ในนรกเป็นเวลานาน เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี
[69] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ในภพสุดท้ายนี้ เราได้รับการกล่าวตู่
เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ
[70] เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ
ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง
เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน
[71] เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานานถึง 100,000 ปี
ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้รับการกล่าวตู่มาก
[72] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
นางจิญจมาณวิกาจึงมากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริงท่ามกลางหมู่ชน
[73] เราเกิดเป็นพราหมณ์
ผู้มีสุตะซึ่งประชาชนสักการบูชา
ได้สอนมนตร์ให้มาณพประมาณ 500 คน ในป่าใหญ่
[74] เราได้เห็นฤๅษีผู้น่าเกรงกลัว ผู้ได้อภิญญา 5
มีฤทธิ์มาก มายังสำนักของเรา
เราจึงกล่าวตู่ฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้ายใคร
[75] ครั้งนั้น เราได้บอกพวกศิษย์ว่า
ฤๅษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ
เพียงเราบอกเท่านั้น พวกมาณพก็พลอยเชื่อ
[76] ตั้งแต่นั้นมา พวกมาณพทั้งหมด
ไปเที่ยวหาอาหารในตระกูลทั้งหลาย
พากันบอกประชาชนว่า ฤๅษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :575 }