เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
กิจที่ควรทำทั้งหมด1ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร
ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว
[355] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[356] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน 1,000 คนก็ได้
[357] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี
เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม
ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์
[358] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน2
ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
[359] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว
ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว
ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[360] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ
ได้ฌานและวิโมกข์3 เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ

เชิงอรรถ :
1 กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค (ขุ.อป.อ.
1/354/284)
2 สัมมัปปธานมี 4 คือ (1) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (2) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
(3) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (4) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ปา. 11/310/201)
3 วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่
ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ 8 (อฏฺฐนฺนํ โลกุตฺตรวิโมกฺขานญฺจ ขุ.อป.อ. 1/360/284) คือ
1-2-3. ผู้เจริญกสิณต่าง ๆ แล้วได้รูปฌาน 4;4-6-7. ผู้ได้อรูปฌาน 4 ; 8. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ
ดูอีก (สํ.นิ.อ. 2/70/143

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :55 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[361] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด1
เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้
ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี2ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ
[362] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว
ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว3 (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว
เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น
[363] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง
ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
[364] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร4
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ
[365] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน
ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท5
อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหน ๆ สักคราวเลย

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ. เถร. อ. 2/433 (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น
ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม
กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ
ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้
2 เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต
3 คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. 1/362/284)
4 ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. 1/364/285)
5 หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ
สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ 754), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว
ประพฤติชั่ว,
เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :56 }