เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [33. อุมาปุปผิยวรรค] 4. ยัญญสามิกเถราปทาน
3. หาสชนกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระหาสชนกเถระ
(พระหาสชนกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[13] ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลของพระศาสดาคล้องอยู่ที่ยอดไม้
จึงประนมมือ แล้วเปล่งวาจาขึ้นอย่างดัง
[14] ความยินดีเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเพราะได้เห็นแต่ไกล
ข้าพเจ้าประนมมือแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
[15] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[16] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระหาสชนกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
หาสชนกเถราปทานที่ 3 จบ

4. ยัญญสามิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยัญญสามิกเถระ
(พระยัญญสามิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[17] ข้าพเจ้ามีอายุ 7 ขวบ เป็นผู้จบมนตร์
ได้ดำรงวงศ์ตระกูล ได้ตระเตรียมพิธีบูชายัญ
[18] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าจะฆ่าสัตว์เลี้ยง 84,000 ตัว
จึงให้คนจับผูกไว้ที่หลักไม้แก่น ตระเตรียมเพื่อจะบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :485 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [33. อุมาปุปผิยวรรค] 4. ยัญญสามิกเถราปทาน
[19] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้มีพระรัศมีเรืองรองดุจถ่านไม้ตะเคียน กระทบที่ปากเบ้า
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย (และ) เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
[20] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง
ผู้มีประโยชน์เกื้อกูลอันไตรโลกบูชา
เสด็จเข้ามาหาแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[21] กุมาร เราพอใจการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
การงดเว้นจากการลักขโมย
จากการประพฤตินอกใจ
และจากการดื่มน้ำเมา
[22] คือความยินดีในการประพฤติสม่ำเสมอ
ความเป็นพหูสูต และความเป็นผู้กตัญญู
ธรรมเหล่านี้บัณฑิตก็สรรเสริญทั้งในปัจจุบันและอนาคต
[23] ท่านเจริญธรรมเหล่านี้
ยินดีในความเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว
จงเจริญมรรคที่สูงสุดเถิด
[24] พระสัพพัญญูผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ครั้นตรัสดังนี้
ทรงพร่ำสอนข้าพเจ้าอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ
[25] ข้าพเจ้าชำระจิตให้บริสุทธิ์ก่อนแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในภายหลัง
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :486 }