เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[302] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ1
ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ
[303] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต2
ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย
ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย
[304] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว
ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[305] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี
สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[306] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[307] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์
เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด
เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[308] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค)
ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล3
มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน)
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (ขุ.อป.อ. 1/302/279)
2 พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล (ขุ.อป.อ. 1/303/280)
3 ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ 3 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล (ขุ.อป.อ. 1/308/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :48 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[309] ท่านเหล่านั้นทั้งที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี
ทั้งที่เป็นพระอนาคามี และที่เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน(คือกิเลส) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[310] สาวกของพระองค์จำนวนมาก
ฉลาดในสติปัฏฐาน1 ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
ทุกท่านแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[311] ท่านเหล่านั้นฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในการเจริญสมาธิ
หมั่นประกอบสัมมัปปธาน แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[312] ท่านเหล่านั้นได้วิชชา 32 ได้อภิญญา 6
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
ถึงความสำเร็จแห่งปัญญา
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[313] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ศิษย์ของพระองค์เป็นเช่นนี้
เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[314] พระองค์มีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์
ย่อมทรงงดงามดังดวงจันทร์
[315] ต้นไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมงอกงามไพบูลย์บนแผ่นดิน
ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเผล็ดผล (โดยลำดับ)

เชิงอรรถ :
1 สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน 4 คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุ-
ปัสสนา (ขุ.อป.อ. 1/310/280)
2 วิชชา 3 หมายถึง (1) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ ระลึกชาติได้
(2) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม (3) อาสวักขยญาณ
ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้ (ที.ปา. 11/305,353/197,245, องฺ.ทสก.
(แปล) 24/102/243-244)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :49 }