เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [23. อาลัมพนทายกวรรค] 2. อชินทายกเถราปทาน
2. อชินทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอชินทายกเถระ
(พระอชินทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[6] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าเป็นคนคอยต้อนรับหมู่คณะ ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[7] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ข้าพระองค์ได้ถวายแผ่นหนังแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ด้วยผลกรรมนั้น
[8] ข้าพเจ้าจึงได้เสวยสมบัติ เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[9] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายหนังสัตว์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหนังสัตว์
[10] ในกัปที่ 50 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่าสุทายกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[11] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอชินทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อชินทายกเถราปทานที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :390 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [23. อาลัมพนทายกวรรค] 3. ทเวรตนิยเถราปทาน
3. ทเวรตนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทเวรตนิยเถระ
(พระทเวรตนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[12] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้อ
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ในป่าดงทึบ
[13] ข้าพเจ้าจึงถวายชิ้นเนื้อแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพเจ้าได้เสวยอิสริยยศในโลก(นี้) พร้อมทั้งเทวโลก
[14] ด้วยผลแห่งการถวายเนื้อนี้ รัตนะจึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า
รัตนะ 2 ประการในโลกเกิดแก่ข้าพเจ้า เพื่อบรรลุธรรมในปัจจุบัน
[15] เพราะผลแห่งการถวายเนื้อ ข้าพเจ้าเสวยรัตนะทั้งหมดนั้น
คือตัวของข้าพเจ้าอ่อนนุ่มและปัญญาของข้าพเจ้าก็ละเอียดลึกซึ้ง
[16] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเนื้อไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนื้อ
[17] ในกัปที่ 4 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่ามหาโรหิต
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[18] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทเวรตนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ทเวรตนิยเถราปทานที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :391 }