เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [19. กุฏชปุปผิยวรรค] 7. เอกจินติกเถราปทาน
[35] ท่านผู้เจริญ ท่านจากที่นี้ จงไปสู่สุคติ
อยู่ร่วมกับมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาที่ยอดเยี่ยมในพระสัทธรรม
[36] ศรัทธาของท่านผู้ตั้งมั่น
เป็นศรัทธาที่หยั่งรากลงลึกดำรงมั่น
ไม่คลอนแคลนในพระสัทธรรม
ที่พระอริยะประกาศดีแล้วจนตลอดชีวิต
[37] ท่านจงทำกุศลที่ไม่เบียดเบียน ไม่มีอุปธิ
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้มากเถิด
[38] แต่นั้น ท่านสั่งสมบุญแล้ว
จงทำบุญนั้นให้มากด้วยการให้ทาน
จงแนะนำแม้สัตว์เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่
ในพรหมจรรย์ ในพระสัทธรรมเถิด
[39] ด้วยความอนุเคราะห์นี้ ในกาลใด เหล่าเทวดาผู้รู้
จึงพลอยยินดีกับเทวดา ผู้ซึ่งกำลังจุติว่า
นี่แน่ะเทวะ ขอท่านจงมาบ่อย ๆ นะ
[40] ในกาลนั้น เมื่อหมู่เทวดามาประชุมกัน
ข้าพเจ้าเกิดความสลดใจว่า ข้าพเจ้าจุติจากที่นี้แล้ว
จักไปสู่กำเนิดอะไรหนอ
[41] ท่านสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้ว
รู้ความสลดใจของข้าพเจ้า
ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงมายังสำนักของข้าพเจ้า
[42] ท่านมีนามว่าสุมนะเป็นสาวก
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
พร่ำสอนอรรถธรรม ให้ข้าพเจ้าสลดใจ ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :353 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [19. กุฏชปุปผิยวรรค] 8. ติกัณณิปุปผิยเถราปทาน
[43] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของท่านแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ได้ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[44] ข้าพเจ้านั้น ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
ได้อุบัติในเทวโลกนั้นเอง
ไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด 100,000 กัป
[45] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกจินติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกจินติกเถราปทานที่ 7 จบ

8. ติกัณณิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติกัณณิปุปผิยเถระ
(พระติกัณณิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[46] ข้าพเจ้าเป็นเทวดา มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม
ระลึกถึงบุพกรรมแล้ว
จึงหวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[47] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้ประคองดอกอัญชัน 3 ดอก
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้องอาจกว่านรชน
[48] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :354 }