เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [15. ฉัตตวรรค] 8. ผลกทายกเถราปทาน
8. ผลกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลกทายกเถระ
(พระผลกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[37] เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นนายช่างทำยานพาหนะ
เป็นผู้ศึกษาดีในการงานของช่างไม้
ได้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นกระดาน
แล้วถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[38] วิมานทองคำที่บุญกรรมเนรมิตดีแล้วนี้ ส่องแสงสว่างไสว
ยานคือช้าง ยานคือม้า ซึ่งเป็นยานทิพย์ ได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
[39] ปราสาท วอ และแก้ว ประมาณมิได้
บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามปรารถนา
นี้เป็นผลแห่งการถวายแผ่นกระดาน
[40] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายแผ่นกระดานไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายแผ่นกระดาน
[41] ในกัปที่ 57 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 4 ชาติ
พระนามว่าภวนิมมิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[42] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลกทายกเถราปทานที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :313 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [15. ฉัตตวรรค] 9. วฏังสกิยเถราปทาน
9. วฏังสกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวฏังสกิยเถระ
(พระวฏังสกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[43] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ พระนามว่าสุเมธะ
เมื่อจะทรงพอกพูนวิเวก1จึงเสด็จเข้าป่าใหญ่
[44] ข้าพเจ้าเห็นดอกช้างน้าวบานสะพรั่ง
จึงนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย
บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เฉพาะพระพักตร์ของพุทธเจ้า
[45] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[46] ในกัปที่ 119 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 16 ชาติ
พระนามว่านิมมิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[47] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวฏังสกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วฏังสกิยเถราปทานที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 วิเวก หมายถึงกายวิเวกและจิตตวิเวก (ขุ.อป.อ. 2/43/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :314 }