เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [13. เสเรยยวรรค] 8. ญาณสัญญิกเถราปทาน
[82] ในกัปที่ 107 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุมังคละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[83] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4
วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ 7 จบ

8. ญาณสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณสัญญิกเถระ
(พระญาณสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[84] ข้าพเจ้าอยู่ในระหว่างภูเขา ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นกองทรายงดงามแล้ว
หวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[85] การเปรียบเทียบในพระญาณไม่มี
สงคราม(คือการปรุงแต่ง)ไม่มีแก่พระศาสดา
พระศาสดาทรงรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ตัดสินใจด้วยพระญาณ
[86] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ขอนอบน้อมพระองค์
ผู้ที่จะเสมอด้วยพระญาณของพระองค์ไม่มี
ตราบเท่าที่พระญาณสูงสุดของพระองค์ยังมีอยู่
[87] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
ในกัปทั้งหลายที่เหลือ ข้าพเจ้าทำกุศลไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :288 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [13. เสเรยยวรรค] 9. คัณฐิปุปผิยเถราปทาน
[88] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ
[89] ในกัปที่ 73 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าปุฬินปุปผิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[90] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระญาณสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณสัญญิกเถราปทานที่ 8 จบ

9. คัณฐิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคัณฐิปุปผิยเถระ
(พระคัณฐิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[91] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ผู้สมควรแก่ทักษิณา
มีหมู่สาวกห้อมล้อม เสด็จออกจากอาราม
[92] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด หาอาสวะมิได้
จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ใช้พวงดอกไม้บูชา
[93] ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน ถวายอภิวาทพระตถาคตอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :289 }