เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[122] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละเครื่องกั้นทางใจ 5 ประการ1
ขจัดอุปกิเลส2 แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัยเครื่องอาศัยคือทิฏฐิ
ตัดความรักและความชังด้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[123] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส โทมนัส ก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[124] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงยและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[125] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ไม่ละการหลีกเร้น3 และฌาน4
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 เครื่องกั้นทางใจ 5 ประการ ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ 5 (ขุ.อป.อ. 1/122/232)
2 อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต (มี 16 คือ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ)
(ขุ.อป.อ. 1/122/232)
3 การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก สงัดกาย (ขุ.อป.อ. 1/125/236)
4 ฌาน ในที่นี้หมายถึงจิตตวิเวก สงัดจิต (ขุ.อป.อ. 1/125/236)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :22 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[126] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เมื่อปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา
คงแก่เรียน มีสติ ผู้มีสังขตธรรม
ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[127] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่ายเหมือนลม
ไม่เปียกนำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[128] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่
ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[129] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา
กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[130] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ
และโมหะ ทำลายสังโยชน์ได้เสีย
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :23 }