เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
ในกามนี้ มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[118] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์นำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหนดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[119] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ 1 รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[120] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะออกบวช
เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[121] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ 6 (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) (ขุ.อป.อ. 1/119/229)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :21 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[122] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละเครื่องกั้นทางใจ 5 ประการ1
ขจัดอุปกิเลส2 แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัยเครื่องอาศัยคือทิฏฐิ
ตัดความรักและความชังด้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[123] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส โทมนัส ก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[124] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงยและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[125] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ไม่ละการหลีกเร้น3 และฌาน4
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 เครื่องกั้นทางใจ 5 ประการ ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ 5 (ขุ.อป.อ. 1/122/232)
2 อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต (มี 16 คือ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ)
(ขุ.อป.อ. 1/122/232)
3 การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก สงัดกาย (ขุ.อป.อ. 1/125/236)
4 ฌาน ในที่นี้หมายถึงจิตตวิเวก สงัดจิต (ขุ.อป.อ. 1/125/236)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :22 }