เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [5. อุปาลิวรรค] 10. จุนทเถราปทาน
[127] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
นำดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ไปบูชาพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับทองคำมีค่า
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[128] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว
มีพระขีณาสพแวดล้อม
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว1 ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[129] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ส่งกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[130] บุคคลผู้นี้จุติจากโลกนี้แล้วจักไปเกิดยังเทวโลก
มีหมู่เทวดาแวดล้อม มีดอกมะลิโปรยปราย
[131] เขาจักมีภพที่สูงและวิมาน
ที่สำเร็จด้วยทองคำและแก้วมณี
ที่เกิดด้วยบุญกรรมปรากฏขึ้น
[132] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรแวดล้อม
ได้เสวยสมบัติอยู่ 74 ชาติ
[133] เขาจักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน 300 ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 75 ชาติ
[134] จักเป็นใหญ่กว่ามนุษย์มีนามว่าทุชชัย
เสวยบุญนั้น ประกอบด้วยกรรมของตน

เชิงอรรถ :
1 โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจห้วงน้ำท่วมทับสัตว์ให้พินาศมี 4 คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อป.อ.
2/128/91)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :185 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [5. อุปาลิวรรค] 10. จุนทเถราปทาน
[135] จักไม่ตกวินิบาตนรก ไปเกิดเป็นมนุษย์
เขามีเงินที่สั่งสมไว้ตั้งร้อยโกฏิมิใช่น้อย
[136] เขาจักบังเกิดในกำเนิด(มนุษย์)เป็นพราหมณ์
มีการศึกษามีปัญญาเป็นบุตรสุดที่รักของวังคันตพราหมณ์
กับนางสารีพราหมณี
[137] และภายหลังเขาจักบวช
ในศาสนาของพระอังคีรสพุทธเจ้า
มีนามว่าจุนทะ เป็นสาวกของพระศาสดา
[138] เขาจักได้เป็นพระขีณาสพ(สิ้นอาสวกิเลส)
ขณะเป็นสามเณรทีเดียว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[139] ข้าพเจ้าได้บำรุงพระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
และสาวกอื่น ๆ ผู้มีศีลเป็นที่รักจำนวนมาก
และบำรุงพระเถระ(สารีบุตร)ผู้เป็นพี่ชายของข้าพเจ้า
เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[140] ข้าพเจ้าครั้นบำรุงพี่ชายของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เก็บพระธาตุใส่ไว้ในบาตร
น้อมเข้าไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
[141] พระพุทธเจ้าทรงประคองพระธาตุด้วยพระหัตถ์ทั้ง 2
เมื่อจะทรงทำพระธาตุนั้นให้ปรากฏในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
จึงทรงประกาศว่าเป็นพระธาตุอัครสาวก(พระสารีบุตรเถระ)
[142] จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นอย่างวิเศษแล้ว
และศรัทธาของข้าพเจ้าก็มั่นคงแล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :186 }