เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [5. อุปาลิวรรค] 2. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[49] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงรู้วิเศษ มีความเพียรมาก ทรงเห็นคุณไม่มีที่สุด
จักทรงตั้งเขาไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[50] เมื่อฝนตกแล้ว หญ้ายาวประมาณ 4 องคุลี
ยืนต้นอยู่ที่พื้นถูกลมพัดโชย
สำหรับพระโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ผู้คงที่
ไม่มีอะไรจะยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่าต้นหญ้านั้น1
[51] ข้าพเจ้าได้ฝึกฝนตน ในการฝึกอย่างสูงสุด
จิตข้าพเจ้าก็ตั้งไว้ดีแล้ว
ภาระทั้งหมดข้าพเจ้าก็ปลงลงแล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพานแล้ว
[52] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอังคีรสมหานาค2
ทรงเป็นอภิชาตบุตร ผู้ดุจพญาราชสีห์
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[53] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณโกฬิวิสเถราปทานที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 เดิมแปลว่า “เมื่อฝนตกในที่ประชุม 4 นิ้ว หญ้าประมาณหนึ่งองคุลีถูกซัดแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้คงที่
ซึ่งประกอบความเพียร ความถึงที่สุด ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่านั้น” คำว่า ...องฺคลุมฺห ประมาณหนึ่งองคุลี”
ฉบับพม่าและ ขุ.เถร.อ. 2/257 เป็น “...องฺคณมฺหิ ที่พื้น (เนิน)” คำว่า “ปารมตา เดิมแปลว่า
ความถึงที่สุด” แปลใหม่ว่า “ยอดเยี่ยม”
2 ชื่อว่าอังคีรส เพราะมีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระ ชื่อว่านาค เพราะไม่ไปยังอบาย 4 เพราะฉันทาคติ
โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ หรือเพราะประพฤติชั่ว ชื่อว่ามหานาค เพราะเป็นใหญ่อันบุคคลบูชา
แล้วและเป็นผู้ประเสริฐ (อังคีรสมหานาค จึงหมายถึงผู้มีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระเป็นผู้ไม่ไปในอบาย 4
และเป็นผู้ประเสริฐ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :173 }