เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[93] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมประโยชน์ไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[94] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[95] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ย่อมเที่ยวหาอาหารได้
ตามความพอใจฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[96] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งการบวชที่ให้ถึงความเสรี1ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 การบวชที่ให้ถึงความเสรี ในที่นี้หมายถึงเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ (ขุ.อป.อ. 1/96/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :15 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[97] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหายย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[98] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลายและไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[99] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่งและคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
ก็สงเคราะห์ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[100] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[101] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :16 }