เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 2. อุปวาณเถราปทาน
[74] แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
นำแก้วผลึกมาประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก
[75] ยักษ์แม้เหล่านั้นได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก 1 โยชน์
ครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น 6 โยชน์ สว่างไสวอยู่
[76] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ และยักษ์ก็เหมือนกัน
[77] พวกเขาทั้งหมดได้พากันสร้างพระพุทธสถูปแล้ว
ในเรื่องพระสถูปนี้ พวกเรายังไม่ได้สร้างเลย
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
[78] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์เหล่านั้น
ได้สร้างแท่นไพที 7 แห่ง จนถึงทางเดิน
พวกคนธรรพ์สร้างพระสถูปด้วยทองคำล้วน
[79] ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น 7 โยชน์
ส่องแสงสว่างไสว จนไม่รู้กลางคืนหรือกลางวัน
เพราะมีแสงสว่างตลอดเวลา
[80] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว
ครอบงำรัศมีของพระสถูปนั้นไม่ได้
ในที่ประมาณ 100 โยชน์โดยรอบ แม้ประทีปก็ไม่โชติช่วง
[81] โดยกาลนั้น มนุษย์พวกใดพวกหนึ่งจะบูชาพระสถูป
พวกเขาไม่ต้องขึ้นพระสถูป เพียงโยนเครื่องสักการะขึ้นไปบนอากาศ
[82] ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าอภิสัมมตะ ที่พวกเทวดาแต่งตั้งไว้
คอยรับธงหรือพวงดอกไม้ไปบูชาให้ยิ่งขึ้น
[83] ชนเหล่านั้นมองไม่เห็นยักษ์ตนนั้น
เห็นแต่พวงดอกไม้ของยักษ์ที่ลอยไปอยู่
ครั้นเห็นเช่นนี้แล้วจึงไป มนุษย์ทั้งหมดย่อมไปเกิดยังสุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :132 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 2. อุปวาณเถราปทาน
[84] พวกมนุษย์ที่ไม่เฃื่อในคำสอน
และพวกที่เลื่อมใสในศาสนา
มีความต้องการจะเห็นปาฏิหาริย์ จึงพากันบูชาพระสถูป
[85] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงหงสวดี
เห็นชนพากันรื่นเริงบันเทิงใจ จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า
[86] ชุมชนเหล่านี้ พากันดีใจ ไม่อิ่มถึงสักการะที่ควรทำ
ซึ่งปรากฏที่เรือนแห่งพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ยิ่งใหญ่
[87] แม้เราก็จักทำสักการะแด่พระโลกนาถ ผู้คงที่
จักเป็นธรรมทายาทของพระองค์ในอนาคต
[88] ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าห่มของข้าพเจ้าที่ช่างย้อมซักไว้อย่างดี
คล้องไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วยกเป็นธงไว้ในท้องฟ้า
[89] ยักษ์อภิสัมมตะจับธงของข้าพเจ้านำไปในท้องฟ้า
ข้าพเจ้าเห็นแต่ธงถูกลมสะบัดได้ทำให้เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[90] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในธงนั้นแล้ว
เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นสมณะรูปหนึ่ง
อภิวาทท่านแล้วได้สอบถามถึงผลในการถวายธง
[91] ภิกษุรูปนั้นกล่าวถึงการที่ข้าพเจ้า
เกิดความเอิบอิ่มใจในการถวายธงให้ข้าพเจ้าฟังว่า
ท่านจักได้เสวยวิบากแห่งการถวายธงนั้นในกาลทุกเมื่อ
[92] กองทัพ 4 เหล่า
คือพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[93] เครื่องดนตรี 60,000 ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :133 }