เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
2. ปัจเจกพุทธาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า
(ต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย จงฟังประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
[83] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ
น้อมกายลง ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ข้าแต่พระธีรเจ้า
ได้ทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นนักปราชญ์ อุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร
[84] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า
ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ
ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย
[85] เพราะมีความสลดใจนั้นแลเป็นตัวนำ
ธีรชนเหล่านั้นผู้มีปัญญาแก่กล้าดี ถึงจะเว้นจากพระพุทธเจ้า1
ก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์เพียงนิดหน่อย
[86] ในโลกทั้งปวง2 ยกเว้นเราเสียแล้ว
ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย
เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหามุนีเหล่านั้นอย่างชัดเจน
[87] เธอทุกรูปเมื่อปรารถนาพระนิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ
มีใจผ่องใสดีแล้ว ก็จงตั้งใจฟังถ้อยคำที่ไพเราะ
ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อย ๆ (เกี่ยวกับประวัติ)

เชิงอรรถ :
1 เว้นจากพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงเว้นจากคำกล่าวสอนและคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ.
1/85/152)
2 โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงโลกทั้ง 3 คือมนุษยโลก เทวโลก และ พรหมโลก (ขุ.อป.อ. 1/86/152)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :13 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหาฤๅษี ผู้ตรัสรู้ได้เองเถิด
[88] ประวัติในอดีต การพยากรณ์ โทษ
เหตุปราศจากความกำหนัดอันใด
ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุบัติขึ้นแต่ละองค์ ๆ
และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้บรรลุพระโพธิญาณด้วยเหตุอันใด
[89] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีการกำหนดหมาย
ในวัตถุที่น่ารักใคร่1ว่าปราศจากความน่ารักใคร่
มีจิตคลายกำหนัดในโลกที่มีสภาวะน่ากำหนัด
ละกิเลสที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ชนะทิฏฐิ2ที่เป็นเหตุให้ดิ้นรนแล้ว
ได้บรรลุพระโพธิญาณเพราะเหตุอันนั้นนั่นเอง
[90] บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
มีจิตเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[91] (พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ก็ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
[92] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก

เชิงอรรถ :
1 วัตถุที่น่าใคร่ ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.อป.อ. 1/89/153)
2 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 62 (ขุ.อป.อ. 1/89/153)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :14 }