เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[34] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เป็นดุจพญาไกรสร ผู้ไม่ครั่นคร้าม
ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้อันประเสริฐนั้นตลอด 7 คืน 7 วัน
[35] ข้าพเจ้าได้ยืนนมัสการพระองค์อยู่ตลอด 7 คืน 7 วัน
พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก เสด็จออกจากสมาธิแล้ว
เมื่อจะทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[36] บรรดาภาวนาทั้งหลาย เธอจงเจริญพุทธานุสสติที่ยอดเยี่ยม
ครั้นเจริญพุทธานุสสตินี้แล้ว จักทำใจให้บริบูรณ์ได้
[37] เธอจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 30,000 กัป
จักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ 80 ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น 1,000 ชาติ
[38] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[39] เธอเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก ความพร่องในโภคะของท่านจะไม่มี
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[40] ในกัปที่ 100,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[41] เธอจักสละทรัพย์ประมาณ 80 โกฏิ
รวมทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมากแล้ว
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[42] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกมีนามว่าสุภูติ ของพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :127 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[43] พระศาสดาพระนามว่าโคดม
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
จักทรงแต่งตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน 2 ตำแหน่ง
คือในพระทักขิไณยบุคคลผู้มีคุณ
และในความเป็นผู้มีธรรมเครื่องอยู่ซึ่งไม่มีข้าศึก
[44] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นไปยังนภากาศดุจพญาหงส์ในท้องฟ้า ฉะนั้น
[45] ข้าพเจ้าซึ่งพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงพร่ำสอนแล้ว
นอบน้อมพระตถาคตแล้วมีจิตเบิกบาน
เจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมทุกเมื่อ
[46] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[47] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ 80 ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 1,000 ชาติ
[48] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติอย่างดีนับไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[49] ข้าพเจ้าเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จะได้โภคสมบัติเป็นอันมาก
ความบกพร่องในโภคะของข้าพเจ้าไม่มีเลย
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[50] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :128 }