เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[17] เจ้าถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแล้ว
ทั้งกลางวันและกลางคืน จักถูกความเร่าร้อนแผดเผา
เหมือนช้างถูกขับออกจากโขลง ฉะนั้น
[18] ทองเก๊ ย่อมใช้ไม่ได้ในที่ไหน ๆ ฉันใด
เจ้าเสื่อมแล้วจากศีลก็จักใช้ในที่ไหน ๆ ไม่ได้ ฉันนั้น
[19] แม้เจ้าอยู่ครองเรือน จักเป็นอยู่ได้อย่างไร
ทรัพย์ทั้งที่เป็นของมารดาและบิดาของเจ้าที่เก็บไว้ก็ไม่มี
[20] เจ้าจักต้องทำการงานของตน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ
จักเป็นอยู่ในเรือนอย่างนี้ เป็นการดีแก่เจ้าที่จะไม่ชอบมัน
[21] ข้าพเจ้าห้ามใจที่หมักหมมด้วยสังกิเลสอย่างนี้ในที่นั้น
ได้กล่าวธรรมกถาต่าง ๆ ห้ามจิตจากความชั่ว
[22] เมื่อข้าพเจ้าเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้
ข้าพเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ล่วงเลยมา 30,000 ปี
[23] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในความไม่ประมาท
ผู้แสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[24] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังสีทองชมพูนุท1
ประมาณมิได้ ไม่มีใครเปรียบได้ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[25] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอด้วยพระญาณ
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนสายฟ้าในกลีบเมฆ

เชิงอรรถ :
1 ทองชมพูนุท หมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ (องฺ.ติก.อ. 2/64/191) ที่เรียกว่า ชมพูนุท เพราะเป็นทอง
ที่เกิดขึ้นในแควของแม่น้ำมหาชมพู (องฺ.ติก.ฏีกา 2/64/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :125 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[26] ครั้งนั้น พระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
ดังพญาราชสีห์ผู้ไม่กลัว
ดุจพญาช้างคึกคะนอง
เหมือนพญาเสือโคร่งผู้ไม่ครั่นคร้าม ฉะนั้น
[27] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังแท่งทองสีสุก
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
มีพระรัศมีโชติช่วงดังแก้วมณี
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[28] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมี
เหมือนภูเขาไกรลาสที่บริสุทธิ์
เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เหมือนดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[29] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์
เสด็จจงกรมอยู่ในท้องฟ้า
จึงคิดอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์
[30] นรชนเช่นนี้เราไม่เคยได้ฟังหรือได้เห็นในแผ่นดิน
เออ บทมนต์ก็มีอยู่ ผู้นี้จักเป็นพระศาสดา
[31] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วได้ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
รวบรวมดอกไม้และของหอมต่าง ๆ ไว้ในครั้งนั้น
[32] ข้าพเจ้าได้ปูลาดอาสนะดอกไม้
ซึ่งวิจิตรดีเป็นที่รื่นรมย์ใจแล้ว
ได้กล่าวคำนี้กับพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสารถีผู้ฝึกนรชนว่า
[33] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
อาสนะนี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว
ขอพระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง
โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :126 }