เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[8] เจ้าจักเป็นผู้ครองเรือนได้บุตรในกาลใด
ในกาลนั้นเจ้าอย่าให้ล้มเหลวแม้ทั้ง 2 อย่างนั้นเลย
จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[9] ฟืนเผาศพ ใช้ทำกิจอะไรในที่ไหน ๆ ก็ไม่ได้
ไม้นั้นเขาไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ในบ้านหรือเป็นไม้ในป่า
และไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ตามปกติ ฉันใด
[10] เจ้าก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนฟืนเผาศพ
ไม่ใช่คฤหัสถ์ ทั้งไม่ใช่สมณะ
วันนี้ เจ้าพ้นจากภาวะทั้ง 2 จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[11] ข้อนี้พึงมีแก่เจ้าหรือหนอ
ใครจะรู้ข้อนี้ของเจ้า ใครจะนำธุระของเจ้าไปโดยเร็ว
เพราะเจ้ามากไปด้วยความเกียจคร้าน
[12] วิญญูชนจักรังเกียจเจ้า
เหมือนชาวเมืองรังเกียจของไม่สะอาดฉะนั้น
ฤๅษีทั้งหลายจักฉุดเจ้ามาตักเตือนทุกเมื่อ
[13] วิญญูชนจักประจานเจ้าว่า ล่วงละเมิดศาสนา
ก็เจ้าเมื่อไม่ได้การอยู่ร่วม จักเป็นอยู่อย่างไร
[14] ช้างมีกำลัง เข้าไปหาช้างกุญชรซึ่งตกมัน 3 แห่ง
เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ เสื่อมกำลังในเวลามีอายุ 60 ปีแล้ว
ขับออกจากโขลง
[15] มันถูกขับออกจากโขลงแล้ว หาความสุขสำราญไม่ได้
เป็นสัตว์มีทุกข์ เศร้าใจ ซบเซา สั่นเทาอยู่ ฉันใด
[16] ชฎิลทั้งหลายจักขับเจ้าผู้มีปัญญาทรามออก
เจ้าถูกชฎิลเหล่านั้นขับออกแล้ว
จักหาความสุขสำราญไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :124 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[17] เจ้าถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแล้ว
ทั้งกลางวันและกลางคืน จักถูกความเร่าร้อนแผดเผา
เหมือนช้างถูกขับออกจากโขลง ฉะนั้น
[18] ทองเก๊ ย่อมใช้ไม่ได้ในที่ไหน ๆ ฉันใด
เจ้าเสื่อมแล้วจากศีลก็จักใช้ในที่ไหน ๆ ไม่ได้ ฉันนั้น
[19] แม้เจ้าอยู่ครองเรือน จักเป็นอยู่ได้อย่างไร
ทรัพย์ทั้งที่เป็นของมารดาและบิดาของเจ้าที่เก็บไว้ก็ไม่มี
[20] เจ้าจักต้องทำการงานของตน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ
จักเป็นอยู่ในเรือนอย่างนี้ เป็นการดีแก่เจ้าที่จะไม่ชอบมัน
[21] ข้าพเจ้าห้ามใจที่หมักหมมด้วยสังกิเลสอย่างนี้ในที่นั้น
ได้กล่าวธรรมกถาต่าง ๆ ห้ามจิตจากความชั่ว
[22] เมื่อข้าพเจ้าเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้
ข้าพเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ล่วงเลยมา 30,000 ปี
[23] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในความไม่ประมาท
ผู้แสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[24] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังสีทองชมพูนุท1
ประมาณมิได้ ไม่มีใครเปรียบได้ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[25] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอด้วยพระญาณ
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนสายฟ้าในกลีบเมฆ

เชิงอรรถ :
1 ทองชมพูนุท หมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ (องฺ.ติก.อ. 2/64/191) ที่เรียกว่า ชมพูนุท เพราะเป็นทอง
ที่เกิดขึ้นในแควของแม่น้ำมหาชมพู (องฺ.ติก.ฏีกา 2/64/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :125 }