เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
3. สุภูติวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระสุภูติเป็นต้น
1. สุภูติเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภูติเถระ
(พระสุภูติเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่านิสภะ
เขาสร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[2] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิลมีนามว่าโกสิยะ
มีตบะแก่กล้า ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อยู่ที่ภูเขานิสภะ
[3] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามิได้เก็บผลไม้ เหง้า และใบไม้ มากิน
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าอาศัยใบไม้เป็นต้นที่หล่นเองเท่านั้นเลี้ยงชีวิต
[4] ข้าพเจ้าแม้ถึงจะสละชีวิตก็ไม่ทำอาชีวะให้กำเริบ
ย่อมทำจิตของตนให้ยินดี งดเว้นการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย1
[5] เมื่อใดจิตของข้าพเจ้าเกิดความกำหนัด
เมื่อนั้นข้าพเจ้าย่อมพิจารณาด้วยตนเอง
ข้าพเจ้ามีใจเด็ดเดี่ยวข่มจิตนั้นเสียว่า
[6] เจ้ากำหนัดในอารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด
ขัดเคืองในอารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง
และหลงในอารมณ์ที่ชวนให้หลง
เพราะฉะนั้น เจ้าจงออกจากป่าไปเสียเถิด
[7] ที่อยู่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน มีตบะ
เจ้าอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกจากป่าไปเสียเถิด

เชิงอรรถ :
1 การแสวงหาที่ไม่สมควร หมายถึงการแสวงหาที่ไม่สมควรมีเวชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น (ขุ.อป.อ.
2/4/44)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :123 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 1. สุภูติเถราปทาน
[8] เจ้าจักเป็นผู้ครองเรือนได้บุตรในกาลใด
ในกาลนั้นเจ้าอย่าให้ล้มเหลวแม้ทั้ง 2 อย่างนั้นเลย
จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[9] ฟืนเผาศพ ใช้ทำกิจอะไรในที่ไหน ๆ ก็ไม่ได้
ไม้นั้นเขาไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ในบ้านหรือเป็นไม้ในป่า
และไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ตามปกติ ฉันใด
[10] เจ้าก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนฟืนเผาศพ
ไม่ใช่คฤหัสถ์ ทั้งไม่ใช่สมณะ
วันนี้ เจ้าพ้นจากภาวะทั้ง 2 จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[11] ข้อนี้พึงมีแก่เจ้าหรือหนอ
ใครจะรู้ข้อนี้ของเจ้า ใครจะนำธุระของเจ้าไปโดยเร็ว
เพราะเจ้ามากไปด้วยความเกียจคร้าน
[12] วิญญูชนจักรังเกียจเจ้า
เหมือนชาวเมืองรังเกียจของไม่สะอาดฉะนั้น
ฤๅษีทั้งหลายจักฉุดเจ้ามาตักเตือนทุกเมื่อ
[13] วิญญูชนจักประจานเจ้าว่า ล่วงละเมิดศาสนา
ก็เจ้าเมื่อไม่ได้การอยู่ร่วม จักเป็นอยู่อย่างไร
[14] ช้างมีกำลัง เข้าไปหาช้างกุญชรซึ่งตกมัน 3 แห่ง
เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ เสื่อมกำลังในเวลามีอายุ 60 ปีแล้ว
ขับออกจากโขลง
[15] มันถูกขับออกจากโขลงแล้ว หาความสุขสำราญไม่ได้
เป็นสัตว์มีทุกข์ เศร้าใจ ซบเซา สั่นเทาอยู่ ฉันใด
[16] ชฎิลทั้งหลายจักขับเจ้าผู้มีปัญญาทรามออก
เจ้าถูกชฎิลเหล่านั้นขับออกแล้ว
จักหาความสุขสำราญไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :124 }