เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. สีหาสนิยวรรค] 1. สีหาสนทายกเถราปทาน
2. สีหาสนิยวรรค
หมวดว่าด้วยการถวายแท่นสีหาสน์เป็นต้น
1. สีหาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีหาสนทายกเถระ
(พระสีหาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เมื่อปาพจน์1 แผ่กว้างออกไป
เมื่อศาสนาอันมหาชนรู้กันแล้ว
[2] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีได้ทำพระแท่นสีหาสน์2
ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทำตั่งสำหรับรองพระบาทถวาย
[3] ในฤดูฝน ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนคลุมบนพระแท่นสีหาสน์นั้น
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปบังเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[4] บุญกรรมได้สร้างวิมานยาว 24 โยชน์
กว้าง 14 โยชน์ไว้อย่างดีในขณะนั้นเพื่อข้าพเจ้า
[5] นางเทพกัญญา 7,000 นาง แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
บุญกรรมได้เนรมิตบัลลังก์ทองไว้อย่างดีในวิมาน
[6] ยานคือช้าง ยานคือม้า ซึ่งเป็นยานทิพย์
ได้รับการจัดเตรียมไว้แล้ว
ปราสาทและวอก็บังเกิดขึ้นตามต้องการ

เชิงอรรถ :
1 ปาพจน์ หมายถึงปิฎก 3 (คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก) (ขุ.อป.อ. 2/1/2)
2 พระแท่นสีหาสน์ หมายถึงอาสนะอย่างดี (ขุ.อป.อ. 2/129/35) เป็นอาสนะของพระผู้มีพระภาคผู้องอาจ
ดุจสีหะ เป็นอาสนะที่ประดับด้วยของมีค่า เช่น เงิน และทองเป็นต้น (ขุ.อป.อ. 2/21/219)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :102 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. สีหาสนิยวรรค] 1. สีหาสนทายกเถราปทาน
[7] บัลลังก์แก้วมณีและบัลลังก์ไม้แก่นชนิดอื่นอีกจำนวนมาก
ทั้งหมดบังเกิดขึ้นเพื่อข้าพเจ้า
นี้เป็นผลของการถวายพระแท่นสีหาสน์
[8] ข้าพเจ้าสวมเขียงเท้าซึ่งทำด้วยทองคำ
เงิน แก้วผลึก และแก้วไพฑูรย์
นี้เป็นผลของการถวายตั่งสำหรับรองพระบาท
[9] ในกัปที่ 94 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[10] ในกัปที่ 73 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 3 ชาติ
มีพระนามว่าอินทะ
ในกัปที่ 72 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 3 ชาติ
มีพระนามว่าสุมนะ
[11] ในกัปที่ 70 ถ้วนนับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 3 ชาติ
มีพระนามว่าวรุณะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4
[12] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านสีหาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สีหาสนทายกเถราปทานที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :103 }