เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 9. สังขารุเปกขาญาณนิทเทส
แม้ธรรม 2 ประการ คือ สังขารและอุเบกขาก็เป็นสังขาร ญาณเพ่งเฉยสังขาร
เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ
[55] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขามีด้วยอาการเท่าไร
คือ การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขามีด้วยอาการ 8 อย่าง
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนมีด้วยอาการเท่าไร การน้อมจิตไป
ในสังขารุเปกขาของพระเสขะมีด้วยอาการเท่าไร การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของ
ท่านผู้ปราศจากราคะมีด้วยอาการเท่าไร
คือ การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนมีด้วยอาการ 2 อย่าง การน้อม
จิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะมีด้วยอาการ 3 อย่าง การน้อมจิตไปในสังขารุ-
เปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะมีด้วยอาการ 3 อย่าง
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนมีด้วยอาการ 2 อย่าง
อะไรบ้าง คือ
1. ปุถุชนย่อมยินดีสังขารุเปกขา
2. ปุถุชนย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนมีด้วยอาการ 2 อย่างนี้
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะมีด้วยอาการ 3 อย่าง
อะไรบ้าง คือ
1. พระเสขะย่อมยินดีสังขารุเปกขา
2. พระเสขะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา
3. พระเสขะพิจารณาแล้วย่อมเข้าผลสมาบัติ
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของพระเสขะมีด้วยอาการ 3 อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 9. สังขารุเปกขาญาณนิทเทส
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะมีด้วยอาการ
3 อย่าง อะไรบ้าง คือ
1. ท่านผู้ปราศจากราคะย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขา
2. ท่านผู้ปราศจากราคะพิจารณาแล้วย่อมเข้าผลสมาบัติ
3. ท่านผู้ปราศจากราคะเพ่งเฉยในสังขารุเปกขานั้นแล้วย่อมอยู่ด้วย
สุญญตวิหารสมาบัติ อนิมิตตวิหารสมาบัติ หรืออัปปณิหิตวิหารสมาบัติ
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของท่านผู้ปราศจากราคะมีด้วยอาการ 3
อย่างนี้
[56] การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน และของพระเสขะ
เหมือนกันอย่างไร
คือ ปุถุชนผู้ยินดีสังขารุเปกขา จิตย่อมเศร้าหมอง (ความเศร้าหมองนั้น)เป็น
เครื่องกีดขวางต่อภาวนา เป็นอันตรายต่อปฏิเวธ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิสืบต่อไป
แม้พระเสขะผู้ยินดีสังขารุเปกขา จิตก็ย่อมเศร้าหมอง (ความเศร้าหมองนั้น)เป็น
เครื่องกีดขวางต่อภาวนา เป็นอันตรายต่อปฏิเวธในมรรคชั้นสูง เป็นปัจจัยแห่ง
ปฏิสนธิสืบต่อไป การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชนและของพระเสขะ เหมือน
กันโดยสภาวะแห่งความยินดีอย่างนี้
การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะ และของท่านผู้
ปราศจากราคะ เหมือนกันอย่างไร
คือ ปุถุชนย่อมเห็นแจ้งสังขารุเปกขาทั้งโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็น
อนัตตา แม้พระเสขะก็เห็นแจ้งสังขารุเปกขาทั้งโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็น
อนัตตา แม้ท่านผู้ปราศจากราคะก็เห็นแจ้งสังขารุเปกขาทั้งโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
และเป็นอนัตตา การน้อมจิตไปในสังขารุเปกขาของปุถุชน ของพระเสขะ และของ
ท่านผู้ปราศจากราคะ เหมือนกันโดยสภาวะแห่งการพิจารณาเห็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :89 }