เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 7. ภังคานุปัสสนาญาณนิทเทส
เมื่อพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็น
โดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา
ย่อมละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละนันทิได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละ
ราคะได้ เมื่อทำราคะให้ดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะได้
การก้าวลงสู่อารมณ์ การหลีกไปด้วยปัญญา
การคำนึงถึงที่มีกำลัง ชื่อว่าปฏิสังขาวิปัสสนา1
การกำหนดธรรม 2 ประการ2
ว่ามีสภาวะอย่างเดียวกันกับอารมณ์ปัจจุบัน
ความน้อมจิตไปในความดับ ชื่อว่าวยลักขณวิปัสสนา3
การที่พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์แล้ว
พิจารณาเห็นความดับแห่งจิต
และความปรากฏโดยสุญญตะ
ชื่อว่าอธิปัญญาวิปัสสนา4
พระโยคาวจรผู้ฉลาดในอนุปัสสนา 3
และวิปัสสนา 4 ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่าง ๆ
เพราะเป็นผู้ฉลาดในความปรากฏ 3 ประการ5
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความดับไป
ชื่อว่าวิปัสสนาญาณ
ภังคานุปัสสนาญาณนิทเทสที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 ปฏิสังขาวิปัสสนา ได้แก่ การพิจารณาอารมณ์แล้วเห็นความดับ (ขุ.ป.อ. 1/52/279)
2 ธรรม 2 ประการ ได้แก่ สังขารที่เป็นอดีตและที่เป็นอนาคต (ขุ.ป.อ. 1/52/279)
3 วยลักขณวิปัสสนา ได้แก่ ความเห็นแจ้งซึ่งมีความเสื่อมไปเป็นลักษณะ (ขุ.ป.อ. 1/52/279)
4 อธิปัญญาวิปัสสนา ได้แก่ ความเห็นแจ้งด้วยอธิปัญญา ( ขุ.ป.อ. 1/52/279)
5 ความปรากฏ 3 ประการ ได้แก่ ความสิ้นไป, ความเสื่อมไป, ความว่างเปล่า (ขุ.ป.อ. 1/52/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :83 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 8. อาทีนวญาณนิทเทส
8. อาทีนวญาณนิทเทส
แสดงอาทีนวญาณ
[53] ปัญญาในการ (เห็นสังขาร) ปรากฏโดยความเป็นภัย ชื่อว่า
อาทีนวญาณ เป็นอย่างไร
คือ ปัญญาในการ (เห็นสังขาร) ปรากฏโดยความเป็นภัยว่า “ความเกิดขึ้นเป็น
ภัย” ชื่อว่าอาทีนวญาณ ... “ความเป็นไปเป็นภัย” ... “นิมิต1เป็นภัย” “กรรม
เป็นเครื่องประมวลมาเป็นภัย” ... “ปฏิสนธิเป็นภัย” ... “คติเป็นภัย” ... “ความ
บังเกิดเป็นภัย” ... “ความอุบัติเป็นภัย” ... “ความเกิดเป็นภัย” ... “ความแก่เป็นภัย”
... “ความเจ็บไข้เป็นภัย” ... “ความตายเป็นภัย” ... “ความเศร้าโศกเป็นภัย” ...
“ความรำพันเป็นภัย”... ปัญญาในการ (เห็นสังขาร) ปรากฏโดยความเป็นภัยว่า
“ความคับแค้นใจเป็นภัย” ชื่อว่าอาทีนวญาณ
ญาณในสันติบท2ว่า “ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย” ... “ความไม่เป็นไปปลอดภัย”
ฯลฯ ญาณในสันติบทว่า “ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย”
ญาณในสันติบทว่า “ความเกิดขึ้นเป็นภัย” ... “ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย” ...
“ความเป็นไปเป็นภัย” ... “ความไม่เป็นไปปลอดภัย” ฯลฯ “ความคับแค้นใจเป็นภัย”
ญาณในสันติบทว่า “ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย”
ปัญญาในการ (เห็นสังขาร) ปรากฏโดยความเป็นภัยว่า “ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์”
ชื่อว่าอาทีนวญาณ ฯลฯ ปัญญาในการ(เห็นสังขาร)ปรากฏโดยความเป็นภัยว่า
“ความคับแค้นใจเป็นทุกข์” ชื่อว่าอาทีนวญาณ
ญาณในสันติบทว่า “ความไม่เกิดขึ้นเป็นสุข” ... “ความไม่เป็นไปเป็นสุข” ฯลฯ
ญาณในสันติบทว่า “ความไม่คับแค้นใจเป็นสุข”

เชิงอรรถ :
1 นิมิต ในที่นี้หมายถึงสังขารนิมิต (ขุ.ป.อ. 1/53/281)
2 สันติบท หมายถึงส่วนแห่งความสงบ อีกนัยหนึ่งคือพระนิพพาน (ขุ.ป.อ. 1/53/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :84 }