เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 6. อุทยัพพยญาณนิทเทส
พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งวิญญาณขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ
5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความดับ
แห่งปัจจัยว่า “เพราะอวิชชาดับ วิญญาณจึงดับ”
2. พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความดับ
แห่งปัจจัยว่า “เพราะตัณหาดับ วิญญาณจึงดับ”
3. พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความดับ
แห่งปัจจัยว่า “เพราะกรรมดับ วิญญาณจึงดับ”
4. พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความดับ
แห่งปัจจัยว่า “เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ”
5. พระโยคาวจรแม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความแปรผัน ก็ย่อมเห็นความ
เสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์
พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ 5 ประการนี้
เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งวิญญาณขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ 10 ประการนี้
พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งเบญจขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ 25 ประการนี้
เมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งเบญจขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ 25 ประการนี้ เมื่อเห็น
ความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งเบญจขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ 50 ประการนี้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรผันแห่งธรรมทั้งหลาย
ที่เป็นปัจจุบัน ชื่อว่าอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
รูปขันธ์มีอาหารเป็นเหตุเกิด ขันธ์ที่เหลือคือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขาร-
ขันธ์มีผัสสะเป็นเหตุเกิด วิญญาณขันธ์มีนามรูปเป็นเหตุเกิด

อุทยัพพยญาณนิทเทสที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :81 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 7. ภังคานุปัสสนาญาณนิทเทส
7. ภังคานุปัสสนาญาณนิทเทส
แสดงภังคานุปัสสนาญาณ
[51] ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความดับ ชื่อว่า
วิปัสสนาญาณ เป็นอย่างไร
คือ จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์
นั้นแล้ว พิจารณาเห็นความดับไปแห่งจิตนั้น
พิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น
คือ พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเที่ยง พิจารณา
เห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความ
เป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลาย
กำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมทำราคะให้ดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ยึดถือ
[52] เมื่อพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณา
เห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา
ย่อมละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละนันทิ (ความยินดี) ได้ เมื่อคลายกำหนัด
ย่อมละราคะได้ เมื่อทำราคะให้ดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะ
(ความยึดถือ) ได้
จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีสัญญาเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีสังขารเป็นอารมณ์
ฯลฯ จิตมีวิญญาณเป็นอารมณ์ ฯลฯ
จิตมีจักขุเป็นอารมณ์ ฯลฯ จิตมีชราและมรณะเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วย่อม
ดับไป พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว พิจารณาเห็นความดับไปแห่งจิตนั้น
พิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น
คือ พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเที่ยง พิจารณา
เห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยความ
เป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลาย
กำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมทำราคะให้ดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ยึดถือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :82 }